วช. เปิดผลวิเคราะห์ถอดบทเรียนสวีเดน ไม่ล็อคดาวน์ผลเป็นอย่างไร - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday, 29 June 2020

วช. เปิดผลวิเคราะห์ถอดบทเรียนสวีเดน ไม่ล็อคดาวน์ผลเป็นอย่างไร

(29 มิถุนายน 2563) ศาสตราจารย์  ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. เปิดเผยผลการวิเคราะห์ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.)  ว่าพบข้อมูลวิชาการในการควบคุมและบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ของแต่ละประเทศทั่วโลก  โดยเฉพาะกรณีประเทศสวีเดน ที่เลือกใช้นโยบายแตกต่างจากประเทศอื่น "โดยไม่ล็อกดาวน์" ปล่อยให้กิจการและกิจกรรมส่วนใหญ่เปิดดำเนินการต่อไปได้เกือบปกติ ไม่ปิดโรงเรียน บริษัท สถานที่ราชการ และร้านอาหาร ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ประชากรส่วนใหญ่ค่อยๆติดเชื้อจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity นั้น ว่าหลังจากที่ใช้มาตรการนี้เหล่านี้แล้วกว่าสามเดือนได้เกิดผลอย่างไรทั้งทางด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคสแกนดิเนเวียที่มีลักษณะและโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน  ได้แก่ เดนมาร์กและนอรเวย์ รวมทั้งฟินแลนด์ด้วย

ประเทศสวีเดน ใช้นโยบายที่ไม่ล็อกดาวน์ ซึ่งการควบคุมหลัก ได้แก่ การปิดเฉพาะโรงเรียนมัธยมที่มีเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปและปิดมหาวิทยาลัย รวมทั้งห้ามกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมมากกว่า 50 คน ส่วนกิจการและกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งร้านอาหาร บาร์ และบริษัทต่างๆ สามารถดำเนินการได้โดยแนะนำให้ประชาชนดูแลตนเองไม่ให้รับเชื้อหรือแพร่เชื้อ  ส่วนประเทศเดนมาร์ก นอรเวย์ ฟินแลนด์ ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากกว่า โดยการปิดโรงเรียนทุกระดับ ปิดมหาวิทยาลัย ปิดกิจการส่วนใหญ่ และให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ทำงานจากบ้าน ควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาด จนการติดเชื้อลดลงในระดับที่ควบคุมได้ หลังจากนั้นจึงค่อยๆผ่อนคลายมาตรการอย่างเป็นระบบ จนขณะนี้กิจการส่วนใหญ่ได้กลับมาเปิดอีกครั้งแล้ว

เลขาธิการ วช. ให้ข้อมูลต่อว่า ผลการวิเคราะห์ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข พบว่า ประเทศสวีเดน มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 65,137 ราย หรือเท่ากับ 6,450 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน เทียบกับ 12,675 (2,188 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในเดนมาร์ก, 8,853 (1,633 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน)ในนอร์เวย์ และ 7,198 (1,299 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในฟินแลนด์  โดยอัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสวีเดน สูงกว่าเดนมาร์ก ถึง 3 เท่า

ในด้านการเสียชีวิต สวีเดน มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 5,280 ราย หรือเท่ากับ 523 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน เทียบกับ 604 (104 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในเดนมาร์ก, 249 (46 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน)ในนอร์เวย์ และ 328 (59 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในฟินแลนด์  โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสวีเดนสูงกว่าเดนมาร์ก ถึง 5 เท่า

สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ประเมินว่าประเทศสวีเดนจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในปี 2563 ลดลง 6.79% (เท่ากับเปลี่ยนแปลง -8.02% เมื่อเทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นในปี 2562)  ในขณะที่เมื่อประเทศเดนมาร์ก ลดลง 6.50% (เปลี่นแปลง -8.87%), ประเทศนอร์เวย์ ลดลง 6.27% (เปลี่ยนแปลง -7.42%) และประเทศฟินแลนด์ ลดลง 5.43% (เปลี่ยนแปลง -8.16%) ซึ่งทั้งสี่ประเทศนี้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับใกล้เคียงกัน

ส่วนอัตราการว่างงาน ประเมินว่าประเทศสวีเดนจะมีอัตราการว่างงาน 9.7% (เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปี 2562) ในขณะที่ประเทศเดนมาร์ก จะมีอัตราการว่างงาน 6.4% (เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 1.4%), ประเทศนอร์เวย์ 4.2% (เพิ่มขึ้น 0.9%) และประเทศฟินแลนด์ 8.3% (เพิ่มขึ้น 1.6%)

ทั้งนี้ประเทศสวีเดน คาดหวังว่าการใช้มาตรการที่ไม่ควบคุมมากนักนี้ จะช่วยทำให้มีประชากรติดเชื้อเป็นจำนวนมากโดยไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และระบบสาธารณสุขรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้ จนทำให้ประชากรส่วนใหญ่ได้ติดเชื้อจนเกิด herd immunity หรือประมาณการณ์ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ 60% ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามพบว่ามาตรการไม่ล็อกดาวน์นี้ยังไม่ทำให้เกิด Herd immunity เนื่องจากจำนวนผู้ที่ติดเชื้อขณะนี้ยังห่างไกลกับเป้าหมายดังกล่าวมาก เนื่องจากผลการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อนี้ในประชากรพบว่ามีเพียง 7% ที่มีแอนติบอดี ซึ่งบ่งว่าประชากรส่วนใหญ่ของสวีเดนยังจะมีโอกาสติดเชื้อได้ต่อไป

โดยสรุป ในการเปรียบเทียบประเทศที่ใช้มาตการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดกับไม่เข้มงวดนั้น ถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ยุติลงและอาจจะมีการระบาดอีกหลายระยะต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งการเปรียบเทียบผลของมาตรการทั้งสองแบบนี้จึงจะต้องเปรียบเทียบผลสุดท้ายหลังจากที่เหตุการณ์ทั้งหมดยุติลงแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเวลาอีกหลายปี   ทั้งนี้การเปรียบเทียบข้อมูลถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงสามเดือนแรกของการระบาดในทวีปยุโรปนั้น  "พบว่าประเทศสวีเดนซึ่งใช้มาตรการแบบไม่เข้มงวด มีอัตราการติดเชื้อต่อประชากรมากกว่าประเทศที่ใช้มาตรการเข้มงวดประมาณ 3 เท่าและมีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรสูงกว่าอีกกลุ่ม 5 เท่า" "ในขณะที่ผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยดูจากการลดลงของ GDP และอัตราการว่างงานของประเทศทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน" 

ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages