เปิดผลสำรวจ พิษโควิด-19 ทำผู้ปกครอง รายได้หดหาย ตกงาน พบ1ใน4กู้หนี้เพื่อการศึกษา ยิ่งเด็กเปิดเทอม ความยากลำบากยิ่งทวีคูณ จี้ภาครัฐออกนโยบายด้านการศึกษา งดเว้นค่าเทอม แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ด้านผู้ใช้แรงงานชวนประหยัดงดเหล้าบุหรี่ หวย ปลูกพืชผักกินได้
วันนี้ (24กรกฎาคม 2563 ) ที่เดอะฮอล์ บางกอก ในเวทีเสวนา “ความยากลำบากของผู้ปกครองในการรับมือเปิดเทอมช่วงโควิด-19” จัดโดย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
นางสาวปาลิณี ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เปิดเผยผลสำรวจ ความพร้อมรับมือเปิดเทอมของผู้ปกครองที่บุตรหลานกำลังศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 โดยสำรวจกลุ่มที่มีบุตรหลานในวัยเรียน 2,286 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่16-26 มิ.ย. จากผู้ปกครองหลากสาขาอาชีพอาทิ รับจ้าง ค้าขาย เกษตรกร พนักงานเอกชน ข้าราชการ เมื่อถามถึงความกังวลใจช่วงเปิดเทอม กว่าร้อยละ28.69 ระบุว่า เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ21.54 กลัวบุตรหลานเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจบทเรียน ร้อยละ19.62เด็กๆอยู่กับสังคมออนไลน์มากเกินไป และ18.57 ห่วงความไม่ปลอดภัยหลังมีข่าวเด็กนักเรียนถูกคุกคามทางเพศมากขึ้น
ด้านนายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลสำรวจของเครือข่ายเยาวชนฯข้างต้น พบว่า ช่วงโควิด-19 มีผลกระทบต่อชีวิตของกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่มีฐานะยากจนในเมือง ซึ่งในคนกลุ่มนี้มีการทำงานในภาคที่ไม่เป็นทางการ เช่น ค้าขาย รับจ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่มีหลักประกันรายได้ และไม่มีความมั่นคง เมื่อเกิดการว่างงาน ตกงาน ขึ้นมา จึงส่งผลให้มีรายได้ไม่สัมพันธ์กับค่าใช้จ่าย จากผลสำรวจได้ส่งสัญญาณว่า1ใน4ของประชากร ต้องกู้หนี้เพื่อมาใช้จ่ายด้านการศึกษา สวนทางกับนโยบายภาครัฐที่ให้เรียนฟรี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรียนฟรีไม่มีจริง เรายังต้องจ่ายเงินเพื่อการศึกษาอยู่ ทั้งที่การศึกษาไม่ควรมีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง ยกตัวอย่าง ผู้ปกครองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจัดหาแมสให้กับบุตรหลาน และในเดือนนี้จะสิ้นสุดมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ จะทำให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการศึกษา หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาได้
“ทางออกของเรื่องนี้ เราต้องไปดูที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางนี้อย่างไร โดยเฉพาะเงินกู้ 4 แสนล้านนี้ว่า จะลงไปช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องออกมาเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจน มีเป้าหมายการใช้เงิน เพื่อให้เกิดการจ้างงานกับคนกลุ่มนี้ หรือภาครัฐจะมีมาตรการลดรายจ่าย โดยเฉพาะในแง่ของการศึกษา ต้องมาดูว่าที่ผ่านมาผู้ปกครองมีต้นทุนด้านการศึกษามาตลอด รัฐบาลกล้าหรือไม่ที่จะประกาศว่าถ้าเป็นเรื่องของการศึกษาภายใน 1 ปีนี้ไม่ต้องเสียเงินสักบาทจริงๆ” นายอนรรฆ กล่าว
ด้านนางสุกัญญา เกิดทิม ประธานสหภาพกิจการสิ่งทอวาไท ครอบครัวผู้ใช้แรงงาน กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ตนและเพื่อนๆได้รับผลกระทบอย่างมาก พอมาเจอช่วงเปิดเทอมก็ยิ่งลำบากเข้าไปอีก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เพราะที่ทำงานไม่มีโอที รายได้ที่มีก็แค่ค่าแรงขั้นต่ำ แม้โรงงานจะพยายามหาทางจุนเจือช่วยเหลือบ้าง เช่นมีการเลี้ยงอาหารพนักงาน แต่ก็ลำบากอยู่ดี เมื่อเปิดเทอมแล้วสิ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่มคือ ค่าเทอม รัฐช่วยแค่ค่าหนังสือ ส่วนค่าชุดนักเรียน ถ้าไม่มีใบเสร็จจะไปเบิกกับรัฐไม่ได้ ซึ่งถ้าจะซื้อชุดนักเรียนจะต้องเอาเงินของเราจ่ายไปก่อน
“ถามว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ตอนนี้ทำได้แค่กู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 มาใช้ในครอบครัวไปก่อน อนาคตตนวางแผนไว้ว่า จะชักชวนเพื่อนร่วมงานทำเกษตรยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวไว้เก็บกินเอง เช่น พริก กระเพรา พืชอะไรก็ได้ที่สามารถปลูกในกระถางได้ แต่ถ้าในอนาคตอาจมีการขยาย และถ้าเหลือก็จะนำออกขายเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้จะติดต่อเครือข่ายนำสินค้าที่มีคุณภาพมาให้พนักงานได้กินได้ใช้ เราจำเป็นต้องพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุดและไม่รู้ว่าวิกฤตในครั้งนี้จะยาวนานแค่ไหน ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเช่นบรรดาอบายมุข เหล้า บุหรี่ หวย การพนัน ของใช้ที่ไม่จำเป็นต้องงดกันจริงๆ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายสิ่งของที่จำเป็น ก็ขอให้กำลังใจผู้ปกครอง คนงานทุกคนที่จะฟันฝ่าช่วงเวลาอันยากลำบากที่ไปด้วยกันให้ได้” นางสุกัญญา กล่าว
No comments:
Post a Comment