กสศ.จับมือ 66 เครือข่ายทั่วประเทศ ยกระดับการช่วยเหลือเด็กนอกระบบกว่า 35,000 คนทั่วประเทศ ให้ได้รับการศึกษา - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Saturday, 19 September 2020

กสศ.จับมือ 66 เครือข่ายทั่วประเทศ ยกระดับการช่วยเหลือเด็กนอกระบบกว่า 35,000 คนทั่วประเทศ ให้ได้รับการศึกษา


หรือพัฒนาทักษะอาชีพตามความต้องการและศักยภาพของเด็ก  พร้อมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพ และดูแลคุณภาพชีวิตครูนอกระบบอีก 3,700 คน พร้อมสร้างระบบป้องกันเด็กหลุดจากการศึกษา

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจง “แนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” ปีงบประมาณ 2563 โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภาคีเครือข่ายเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนจำนวน 66 เครือข่ายทั่วประเทศ  

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า กสศ.ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ให้แก่ 66 องค์กรภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่74จังหวัด พัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ฐานะยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ เข้าไม่ถึงการศึกษา ตั้งแต่อายุ 2-25 ปี กว่า35,000 คน โดยกสศ.สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งแบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หรือการพัฒนาทักษะอาชีพตามความต้องการและศักยภาพของเด็ก โดยมีองค์กรหรือภาคีเครือข่ายเป็น“ครูพี่เลี้ยง”ซึ่งกสศ.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายครูนอกระบบกว่า3,700คนอีกด้วย 

“ครูพี่เลี้ยง จะเป็นเหมือนฟันเฟืองในการทำงาน ประสานส่งต่อเด็กนอกระบบให้กับกสศ.เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน แบ่งประเภทและจัดทำรูปแบบการศึกษา ตามความเหมาะสม และกสศ.จะติดตามและประเมินผลต่อไปเพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบซ้ำอีก” นายสุภกร กล่าว 

ดร.กฤษณพงศ์  กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกสศ. และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่ทำงานกับเด็กและครู แต่ต้องมีผู้ปกครอง ชุมชนในระดับหมู่บ้าน และโครงการนี้จะสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงาน การวิเคราะห์เด็กนอกระบบแบบเจาะลึกในทุกมิติ ทั้งด้านเพศ อายุ ภูมิหลังของครอบครัว สภาพแวดล้อม และชุมชน การดำเนินงานในช่วงแรกจะเน้นแก้ปัญหาให้ได้ พร้อมคำนึงถึงการป้องกันปัญหาควบคู่กันไป และสร้างการป้องกันเด็กที่จะหลุดจากระบบการศึกษา เพราะเรารู้ว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยงสูง 

“เราสนับสนุนให้เกิดการเฝ้าระวังที่มีการประสานระหว่างผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน หากเกิดกลไกลักษณะนี้ จะทำให้เรื่องนี้ง่ายและไม่ซับซ้อนเท่าการปล่อยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วไม่สามารถดึงกลับเข้ามาได้อีก”ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว 

ศ.ดร.สมพงษ์  จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ.และรองประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูฯ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาของไทยถูกเลี้ยงไข้มากว่า20 กว่าปี ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีเด็กยากจนด้อยโอกาสมากกว่า 3.7 ล้านคน ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ครูที่อยู่นอกระบบไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพ ไม่มีอนาคต ไม่ได้รับการยอมรับ จนอยู่ในสภาพซึมเศร้าในวิชาชีพ โครงการนี้จึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตครูนอกระบบให้ดีขึ้น มีสวัสดิการ มีความมั่นคง ทั้งนี้การขับเคลื่อนเชิงระบบต้องค่อยๆทำ 

ซึ่งการสนับสนุนงบประมาณครั้งนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาด้านการศึกษาเด็กนอกระบบของประเทศได้ โดยการให้ครูนอกระบบบอกเราว่า เครื่องมือที่ใช้คืออะไร ลงพื้นที่ยังไง แล้วเราจะทำงานตรงนี้ให้เป็นชุดนวัตกรรม ชุดความรู้ แล้วให้เครดิตกับครูทุกคน ไม่เช่นนั้นวิธีการดีๆ ที่คิดค้นขึ้นมาจะหายไป หรืออยู่กับที่ ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาทำให้เป็นความรู้ และเป็นตัวปรับเปลี่ยนนโยบายได้ ต่อไปนี้ กสศ.จะทำให้เป็นระบบทั้งเรื่องชุดความรู้ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ กสศ.จะเป็นเจ้าภาพตรงนี้ มีกองทุน มีเด็กนอกระบบ ครูนอกระบบกลุ่มนี้เป็นเป้าหมาย และภารกิจที่ กสศ.ต้องทำ การมีเจ้าภาพที่มีตัวตนชัดเจนเข้ามาทำงานเพื่อเด็กนอกระบบ เด็กยากจนพิเศษ และครู จะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่ยั่งยืน 

นางสาวเนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายการทำงานเด็กนอกระบบการศึกษา41เครือข่าย กล่าวว่า การทำงานในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่ภาคเหนือจะเป็นกลุ่มเด็กพิเศษที่บกพร่องทางพัฒนาการ กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กแรงงานข้ามชาติ เยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา รวมถึงกลุ่มเด็กเปราะบาง มีสัดส่วนอายุ 2-21ปี ส่วนกลุ่มหนาแน่นจะอยู่ในช่วงอายุ13-25 ปี โดยแต่ละจังหวัดจะมีอาสาสมัครประจำกลุ่มตามประเภทของเด็กที่มีปัญหา มีคณะทำงานคอยกลั่นกรอง รวมถึงกำหนดกิจกรรมช่วยเหลือเด็ก ซึ่งกลไกดังกล่าวจัดตั้งจากฐานของคนพื้นที่หรือที่เรียกว่า “ครูนอกระบบ” หรือ “ครูพี่เลี้ยง” ที่เป็นกลไกสำคัญสำหรับหลักการทำงานเชิงพื้นที่ ต้องทำบนรากฐานประเด็นปัญหาเด็ก อาทิ สิทธิมนุษยชน ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต การสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เน้นให้เด็กปรับตัวได้ นำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตามโครงการฯนี้ สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเด็กได้จริง ทำให้สังคมตระหนักและเกิดการช่วยเหลือเด็กแต่ละกลุ่มได้ตรงจุด

ขณะที่ ผศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมบริหารโครงการฯ จะมีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุนฐานข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาของ กสศ.และตัวโครงการที่ผู้รับทุนส่งเข้ามา เพื่อออกแบบวิธีเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ สนับสนุน ติดตามประเมินผลโดยจะเน้นการลงพื้นที่ เพื่อไปดูการทำงานทั้งก่อนและหลังดำเนินการ ว่าตอบโจทย์หรือไม่ หากมีปัญหาจะช่วยให้คำปรึกษาเพื่อให้การทำงานดีขึ้น ทั้งนี้คาดหวังว่าเด็กเยาวชนและครูจะเกิดการพัฒนาตนเอง ได้เห็นต้นแบบโมเดลการช่วยเหลือจากพื้นที่จริง เห็นภาพของเครื่องมือ วิธีพัฒนาเด็กและครูนอกระบบที่ทำงานจริงๆ เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน


  

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages