วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานที่ประสบปัญหาการว่างงานจากสถานการณ์ COVID-19 ระหว่างสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. โดยมีคณะผู้บริหารของกระทรวงแรงงานประกอบด้วย นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม สำหรับคณะผู้บริหารจาก บจธ. ประกอบด้วย พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมการ บจธ. นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ บจธ. สำหรับพิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมการ บจธ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ประมาณว่ามีแรงงานในระบบประกันสังคมและแรงงานนอกระบบที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 1.3 ล้านคน แรงงานส่วนใหญ่จะกลับภูมิลำเนาเดิมไม่มีอาชีพรองรับ การประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงเป็นอาชีพที่สามารถสร้างความมั่นคง และยั่งยืนในชีวิตได้ ดังนั้น บจธ. และสำนักงานประกันสังคม จึงได้ร่วมกันบูรณาการทำงานลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานที่ประสบปัญหาการว่างงานจากสถานการณ์ โควิด-19 แก้ไขปัญหาผู้ประกันตนและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ประสบปัญหาว่างงาน ให้มีที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตน และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ประสบปัญหาการว่างงานจากสถานการณ์ โควิด-19 เข้ารับความช่วยเหลือตามภารกิจของ บจธ. ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ เช่น เว็บไซต์/ไลน์ และสำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ ส่วน บจธ. จะเป็นผู้จัดหา จัดสรร และพัฒนาที่ดิน รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน และด้านเงินทุนประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ขอเข้าร่วมโครงการ และมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ของ บจธ. ภายในงบประมาณที่ บจธ. ได้รับการสนับสนุน นอกจากนี้ บจธ. จะจัดอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการตลาด เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ความร่วมมือตามบันทึกความร่วมมือมีระยะเวลา 2 ปี
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวว่า ในเบื้องต้น บจธ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม บจธ. จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม 2) มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้ว จากการจำนอง การขายฝาก หรือการถูกบังคับคดี แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณี 1 ที่ดินยังไม่หลุดมือ ช่วยเหลือโดยการให้สินเชื่อเพื่อคงสิทธิในที่ดิน กรณี 2 ที่ดินหลุดมือแล้ว ช่วยเหลือโดยการจัดซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ บจธ. แล้วให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือเช่าซื้อ 3) ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีแต่ไม่เพียงพอ บจธ. จะเข้าให้ความช่วยเหลือโดยการประสานกับกรมธนารักษ์ นำที่ราชพัสดุที่มีความเหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ มาดำเนินการพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและจัดสรรให้กับผู้ขอรับความช่วยเหลือเข้าทำประโยชน์โดยการเช่าช่วงจาก บจธ. (อัตราค่าเช่าตามที่ บจธ. กำหนด) รายละไม่เกิน 3 ไร่ เมื่อเข้าทำกินในที่ดินดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีความประสงค์ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินในที่ดินใกล้กับถิ่นพำนักของตนเอง ก็สามารถที่จะยื่นคำขอให้ บจธ. จัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาให้เช่าซื้อต่อไปได้
No comments:
Post a Comment