ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ รมว.อว. ได้มอบนโยบายและกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนสัตว์เศรษฐกิจ ในเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และภาคใต้ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการประกวดการแปรรูปเนื้อและผลิตภัณฑ์แพะ พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้เข้ารับการประกวดอีกด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนกได้กล่าวว่า ตนตั้งใจที่จะมาดูมหา’ลัยแพะนานาชาติ จ.กระบี่ ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ทำให้ได้พบของดีที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของไทย มหา'ลัยเป็นมหาวิทยาลัยของภาคประชาชนที่เกิดจากเรี่ยวแรงและความพยายามของคนในพื้นที่จริง ๆ ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วไปขาดสิ่งเหล่านี้มาก นี่จึงเป็นจุดแข็งของมหา’ลัยแพะ ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ยังทำไม่ได้ และสิ่งที่มหา’ลัยแพะทำสอดคล้องกับโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ อว. เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัด ถ้าทุกจังหวัดทำมหาวิทยาลัยแบบนี้ จะทำให้โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันสำเร็จได้
"ขอยืนยันว่าสิ่งไหนที่ อว.จะเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมได้ อว.ยินดีทำให้เต็มที่ แต่เราจะไม่ไปทำแทนคนในท้องที่ เราจะเป็นกองหนุนเพื่อให้ชุมชนได้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้คนในพื้นที่รู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของเพื่อให้การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเกิดขึ้นได้จริง หลังจากนี้ อว.จะไปถอดบทเรียนความสำเร็จของมหา’ลัยแพะ เพื่อให้เป็นโมเดลหนึ่งของการเรียนรู้ที่ทำให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมได้จริง และจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป" รมว.อว.กล่าว
ทางด้าน ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงบทบาทของ อว. ที่จะถอดบทเรียนความสำเร็จของมหา’ลัยแพะต่อไปว่า อว. มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในรูปแบบใหม่เพิ่มเติมที่จะให้การศึกษาตรงกับการใช้งาน ให้คนเข้ามาศึกษาแล้วสามารถสร้างรายได้ คนทำงานแล้วก็มาศึกษาเพิ่มเติม เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ต้องมีการรับปริญญา เพื่อเสริมการศึกษาในอุดมศึกษาปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้กล่าวรายงานเรื่องการดำเนินงานขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาร่วมผลักดันการดำเนินการผู้ประกอบการ และชุมชนผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดกระบี่ ซึ่งในส่วนของ วช. ได้นำเสนอนิทรรศการโครงการยกระดับการขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ด้วยการจัดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตน้ำนม อาหารผสม สำหรับแพะเนื้อ และแพะนม การแปรรูปน้ำนมและนวัตกรรม เพื่อประสิทธิภาพการเลี้ยงแพะ โดยมีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ.2563-2565 จำนวน 7 โครงการ
ประกอบด้วย 1.ศักยภาพทางการตลาดและการจัดการโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ 2.การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะของเกษตรกรในภาคใต้ 3.นวัตกรรมอาหารผสมสำเร็จจากเศษเหลือทางการเกษตรและอุตสาหกรรมสำหรับแพะเนื้อและแพะนมในภาคใต้ 4.การค้นหาและจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี genotyping-by-sequencing (GBS) เพื่อจำแนกอัตลักษณ์พันธุ์จำเพาะและปรับปรุงพันธุกรรมแพะเนื้อ “ทรัพย์ มอ.1” 5.การเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะด้วยการใช้โปรแกรมฮอร์โมน 6.การวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดลิสในแพะ 7.การพัฒนาต้นแบบโรงแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
No comments:
Post a Comment