เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 ที่ศาลาเอนกประสงค์วัดบางภาษี อ.บางเลน จ.นครปฐม สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ Node Flagship สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นครปฐม และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “นครปฐมโมเดล ปลูกผักสนุกจัง สานพลังการอ่าน…สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” เพื่อขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ให้เด็กทุกคน สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย ไร้สารพิษ รวมถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอเหมาะสมทั้งในภาวะปกติและภาวะพิบัติภัยต่างๆ
ผศ.ดร.นพ.คงเดช ลีโทชวลิต ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต การเข้าถึงอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นการได้รับความมั่นคงทางอาหาร หรืออาหารที่ปลอดภัย ไร้สารเคมีและสารพิษ จึงเป็นหลักประกันที่นำไปสู่การมีดุลยภาพในทุกมิติ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอันดับต้นๆของโลก มีผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งออกเป็นจำนวนมาก ยังประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอต่อความต้องการ ในกลุ่มของเด็กและกลุ่มผู้เปราะบาง เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ เด็กกลุ่มนี้ยิ่งต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งความหิวโหย และความปลอดภัยของอาหาร จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดัน ให้น้องๆเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอและเหมาะสม ทั้งในภาวะปกติและภาวะพิบัติภัยต่าง ๆ
“นครปฐมเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์รายล้อมไปด้วยพืชผักผลไม้นานาชนิด ดังนั้นเพื่อให้เกิดระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์และความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม จึง ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ” ผศ.ดร.นพ.คงเดช กล่าว
รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ผู้จัดการ Node Flagship สสส.นครปฐม และกรรมการผู้จัดการมูลนิธิปันสุข กล่าวว่า แม้ไทยมีการปรับตัวที่ดีเพื่อเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นลำดับต้นๆของโลก แต่ปัญหาการกระจายอาหารให้ทั่วถึงเพียงพอ ทั้งด้านความปลอดภัยของอาหาร คุณค่าทางโภชนาการอย่างสมวัย และการผลิตที่เกื้อกูลต่อระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในจังหวัดนครปฐม พบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 911,492 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กแรกเกิดถึงปฐมวัย (0-5 ปี) ร้อยละ 6.1 และเป็นเด็กวัยเรียนตามการศึกษาภาคบังคับ (6-15 ปี) ร้อยละ11.3 ปัญหาสำคัญของเด็กทั้งสองกลุ่มคือ โภชนาการสมวัย โดยเด็กกลุ่มแรกมีภาวะทุพโภชนาการ ผอมและเตี้ย ส่วนกลุ่มหลัง คือ โรคอ้วนและเริ่มอ้วน ซึ่งมีถึงร้อยละ16 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม ร่วมมือกับหลายภาคส่วน รวมถึง Node Flagship สสส.จังหวัดนครปฐม รณรงค์ขับเคลื่อนผ่านโรงเรียนต่าง ๆ หลายสังกัด เพื่อให้เด็กได้รับอาหารปลอดภัยครบ 3 มื้อ โดยสนับสนุนให้โรงเรียนปลุกผักกินเอง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ปกครองปลูกผักและรับซื้อผักปลอดสารพิษจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
“สิ่งนี้จะเกิดเป็นโมเดลการจัดการอาหารตามบริบทของพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ที่ชี้ชัดว่า ความมั่นคงทางอาหารทำได้จริงในระดับชุมชน มาถึงวันนี้ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม มูลนิธิปันสุข มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนโดยการสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งขาติ (สช.) ตระหนักว่า เด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียน ควรเป็นประชากรกลุ่มแรกที่ชุมชนจะต้องใส่ใจ ฟูมฟักให้พวกเขาได้รับโภชนาการสมวัยที่ปลอดภัยและเพียงพอ เราจึงร่วมกันปลุกพลังพลเมือง ขับเคลื่อนการออกแบบชุมชนให้นครปฐมเป็นโมเดลเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญ อาทิ สาธิตการทดลอง การผลิตหนังสือ ปลูกผักสนุกจังเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ได้เห็นตอนปลุกพลังจากการอ่าน และเข้ามาสร้างและออกแบบแผนงานร่วมกัน” รศ.ดร.เกศินี กล่าว
ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มูลนิธิชีววิถี ไทยแพน และเครือข่ายขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็กนครปฐม ที่ลุกขึ้นสร้างปรากฏการณ์รูปธรรมในครั้งนี้ ขอบคุณ สสส. ที่สนับสนุนให้หนังสือและการอ่านเป็นจุดคานงัดสำคัญในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง หากเราสามารถปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาวะและวางรากฐานกระบวนการอ่านการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต เขาจะเติบโตเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสังคมแห่งอนาคต เด็กหนึ่งคนจึงต้องใช้คนทั้งชุมชน ทั้งหมู่บ้าน ทั้งเมืองร่วมกันดูแล ช่วยกันหยุดทำร้ายเด็กในวันนี้ ต้องหยุดใช้สารเคมี
สำหรับพ่อแม่ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูอนุบาล และผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือนิทานภาพ “ปลูกผัก สนุกจัง” ได้ทาง www.happyreading.in.th หน่วยงานในจังหวัดนครปฐมที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก ติดต่อรับหนังสือได้ที่ เพจมูลนิธิปันสุข นครปฐม
นางธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กประถมวัย กล่าวว่า ทุกภาคส่วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ อยากเห็นเด็กได้รับอาหารที่ปลอดภัย อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก หากเด็กได้รับสารอาหารที่ดีมีโภชนาการตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมอง กลายเป็นเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและสมวัย ทั้งนี้วัฒนธรรมในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญ เช่น การสร้างกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษร่วมกันและนำผลผลิตที่ได้ไปประกอบอาหารรับทานในครอบครัว เป็นการปลูกฝังให้เด็กเห็นคุณค่าของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวจะกลายเป็นทักษะของชีวิตที่ดีของเด็กด้วย
“โครงการนี้ใช้เด็กเป็นตัวตั้งในการทำงาน เปรียบเหมือนเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กเข้าด้วยกัน การทำงานด้านเด็กถ้าคนในพื้นที่เข้มแข็ง จะเป็นตัวอย่างให้ฝ่ายนโยบายเห็นว่านโยบายที่ผลักดันมีความน่าเชื่อถือสามารถเกิดขึ้นจริง นำไปสู่กลไกในการสนับสนุนด้านงบประมาณ ส่งผลให้การทำงานเกิดความยั่งยืนในอนาคต” นางธิดา กล่าว
No comments:
Post a Comment