กสว. เห็นชอบหลักการ TBIR เสริมศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Friday, 27 November 2020

กสว. เห็นชอบหลักการ TBIR เสริมศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ


คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กสว. เห็นชอบในหลักการของมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ หรือ ความต้องการจากภาคเอกชนที่มีตลาดใหญ่ (Thailand Business Innovation Research: TBIR / Thailand Technology Transfer Research: TTTR) เสริมขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation-driven enterprise) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ 


วันนี้ (27 พ.ย. 63) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ครั้งที่ 11/2563 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นการดำเนินการขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) โดยการประชุมครั้งนี้ มีหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการพิจารณา คือเรื่องการขออนุมัติหลักการมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ หรือ ความต้องการจากภาคเอกชนที่ตลาดขนาดใหญ่ 


โอกาสนี้ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ กสว. เห็นชอบในหลักการมาตรการ TBIR ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เข้าไปหนุนเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยหลักการของมาตรการในลักษณะนี้ มีการใช้ในหลายประเทศที่เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามการนำมาปรับใช้ในบริบทของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยนั้น กสว. ยังมีข้อสังเกตถึงหลักการระบบ รวมถึงแนวทางการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างชัดเจน จึงมอบหมายให้คณะทำงานศึกษาต่อถึงแนวทางการวางกรอบการทำงาน การสร้างกลไกต่าง ๆ การทำงานในเชิงนโยบายและประสานระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้สามารถดำเนินงานได้  โดยเน้นย้ำว่า บทบาทของ กสว. และ สกสว. เป็นเพียงผู้ช่วยผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเท่านั้น (Facilitator) ส่วนการให้ทุนสนับสนุนประเด็นนี้ยังคงเป็นบทบาทของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (Program Management Unit : PMU) ที่รับผิดชอบงานด้านนวัตกรรม  ส่วนรายละเอียดการดำเนินงานนั้นยังคงเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษากันต่อไป  


ทางด้าน รศ.ดร. พงศ์พันธ์  แก้วตาทิพย์  ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาระบบและเครือข่าย ววน. สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกสว. ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ยกร่างมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ หรือ ความต้องการจากภาคเอกชนที่มีตลาดใหญ่ (Thailand Business Innovation Research: TBIR / Thailand Technology Transfer Research: TTTR) ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรม โดยมีที่มาจาก Small Business Innovation Research และ Small Business Technology Transfer ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวคิดว่า วิสาหกิจ SMEs คือหนึ่งในผู้สร้างนวัตกรรม จึงส่งเสริมให้ทำโครงการวิจัยที่ตรงกับความต้องการของภาครัฐและสังคม จากนั้นจึงพัฒนาแนวคิดนี้ให้สอดคล้องตามบริบทของประเทศไทย ทำให้เกิดมาตรการ TBIR/TTTR ที่เป็นกลไกการให้ทุนสนับสนุนโดยอาศัยหลักการของการแข่งขัน เพื่อให้ได้ข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพและมีศักยภาพสูง ภายใต้โจทย์ความต้องการจากภาครัฐ หรือ ความต้องการจากภาคเอกชนที่มีตลาดขนาดใหญ่ 

โดยเป็นการสนับสนุนทุนให้แก่ผู้ประกอบการทั้งวิสาหกิจขนาดใหญ่ระดับต้น ขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ที่อยู่ในช่วงที่มีศักยภาพหรือกำลังพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยและพัฒนาด้าน ววน. เพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation – driven enterprise) ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมีแผนการขับเคลื่อนมาตรการ TBIR นำร่องในปีงบประมาณ 2564 และคาดหวังว่าในปีงบประมาณ 2565 จะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มรูปแบบ 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages