9 ธันวาคม 2563สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการ “ประชุมหารือจัดทำแผนงานสุวรรณภูมิศึกษา” โดยมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะพัฒนาแผนวิจัย
รศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สกสว. ด้านวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก การประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ มีความเห็นให้ สกสว.และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ส่งเสริมงานวิจัยเรื่อง “สุวรรณภูมิ – ทวารวดี - ศรีวิชัย” ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. โดยให้ สกสว. บรรจุประเด็นเพิ่มเติมในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2564 และจัดงบประมาณสนับสนุน นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีแผนงานตั้งศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ศูนย์ภายใต้วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences Humanities and Arts หรือ TASSHA)
โดยแผนวิจัยที่ออกแบบนั้นเน้นการศึกษาเชิงสหวิทยาการ ไม่จำกัดเฉพาะสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เท่านั้น จะมีการบูรณาการข้ามศาสตร์ร่วมกับศาสตร์อื่นๆ และไม่ผลิตซ้ำงานเรื่องชาตินิยมซึ่งอาจเป็นประเด็นจุดชนวนนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างการพยายามหาคำตอบว่า “สุวรรณภูมิ” ตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศใด แต่มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับภายในและระหว่างภูมิภาค และสร้างเครือข่ายทางวิชาการทางด้านสุวรรณภูมิศึกษา ที่มุ่งให้เกิดผลกระทบ (Impact) เพื่อรวบรวมชุดความรู้ด้านสุวรรณภูมิ ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านสุวรรณภูมิที่สำคัญของภูมิภาคและโลกเกิดแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick win) งานวิจัยด้านสุวรรณภูมิ และงานวิจัยด้านนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสร้างนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ นักวิจัยจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอรายงานเบื้องต้น (Inception Report) เรื่องสุวรรณภูมิศึกษา ให้ที่ประชุมได้รับทราบ
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ในเรื่องของสุวรรณภูมิศึกษา อาจมีคำถามเชิงลึกหลายคำถามที่รอการค้นหาคำตอบ การออกแบบวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ได้ความรู้เชิงลึกในพื้นที่จริงว่าประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ส่งผลต่อปัจจุบันอย่างไร ประเทศไทยต้องการนักวิจัยด้านนี้ หลังจากนี้จะมีการออกแบบการทำงานร่วมกันระหว่าง สกสว. TASSHA หน่วยบริหารจัดการทุน (พีเอ็มยู) นักวิชาการ ตลอดจนการเชื่อมต่อกับผู้ใช้ประโยชน์ โดยขั้นตอนหลังจากที่แผนนี้สำเร็จ ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะประกาศโจทย์วิจัยต่อไป
No comments:
Post a Comment