เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์รับฟังความคิดเห็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ Traceability from Farm to Table for World Kitchen and New Economy after COVID-19 จากการที่ สกสว. มีบทบาทในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณเพื่อจัดสรรทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ จึงได้จัดงานเสวนาเพื่อระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นกรอบแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย
รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในภาคการเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้เกิดระบบ Smart Farm ในปัจจุบันความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรและอาหาร (Traceability) มีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่ระบบ Traceability ที่มีอยู่เดิมเกิดช่องว่าง จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เข้ามาช่วยลดช่องว่างเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ Traceability จะตอบโจทย์ของประเทศไทยในการเป็นครัวของโลก
คุณครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช. ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ได้การรับรองมาตรฐานจาก มกอช. ใช้ระบบ Traceability เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ และสร้างความมั่นใจในสินค้าเกษตรไทยว่าปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยได้พัฒนาระบบบันทึกข้อมูลสินค้าเกษตรบน Cloud ให้เกษตรกรเข้ามาใช้งานได้ฟรี และสามารถสร้าง QR Code ที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรได้ รวมทั้งได้จัดทำ website DGT Farm (Digital Farm) เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็น Online Platform ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความมั่นใจในการซื้อขายสินค้าเกษตรต่อไป
คุณธนพล ภู่พันธ์ศรี ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาการตลาดและต่างประเทศ ตลาดกลางผักและผลไม้ศรีเมือง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า การทำ Traceability ในภาคการเกษตรของไทย จะต้องคำนึงถึงเกษตรกรที่เป็นแปลงเล็กเป็นส่วนใหญ่ ความเข้าใจห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการซื้อขายสินค้าเกษตรไทย ขณะที่เกษตรกรจะต้องเห็นคุณค่าของการทำ Traceability รวมทั้งกลุ่มตลาดกลางต้องเข้ามาสนับสนุนระบบ Traceability ให้กับเกษตรกร รวมทั้งนำข้อมูลจาก Traceability มาช่วยในการซื้อขายสินค้าเกษตร เพื่อให้ได้ข้อมูลราคาสินค้าเกษตร สามารถแนะนำพืชผลทางการเกษตรที่ขายได้ราคาดีให้กับเกษตรกร รวมทั้งการสร้างความร่วมมือข้อมูลสินค้าเกษตรของประเทศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คุณอนันต์ ชัยกิจวัฒนะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสมุนไพรและสารสกัด บริษัท ทิปโก้ ไบโอเท็ค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ทำ Traceability ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นรายแรก ๆ ของไทย โดยเริ่มจากกระชายดำ ซึ่งความต้องการส่งออกสูง แต่วัตถุดิบไม่เพียงพอ จึงแก้ปัญหาโดยการทำ Contract Farming และลูกค้ามีความต้องการระบบ Traceability แต่ปัจจุบันยังไม่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้โดยสมบูรณ์ ขณะที่โรงงานผลิตหรือสกัดสมุนไพรในประเทศที่มีการทำ Traceability มีจำนวนน้อยมาก จึงมองว่าเป็นช่องว่างที่จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญและนำ Traceability มาใช้ โดยเสนอแนะแนวทางการนำระบบ Traceability มาใช้ในอุตสาหกรรมสมุนไพรและสารสกัดว่า จะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้กำหนด Traceability เป็นข้อบังคับในการรับรองมาตรฐานการผลิต รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในด้านราคาผลผลิตในการใช้ Traceability ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งการทำ Traceability จะช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรว่ามาจากแหล่งวัตถุดิบนั้น ๆ จริง รวมถึงการสร้าง Story ของสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในเรื่อง Traceability ได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการทำให้ระบบ Traceability ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงเกษตรกรได้ ความพร้อมและความต้องการของตลาดและภาคส่วนต่าง ๆ ของภาคการเกษตร ความคุ้มค่าของการลงทุนระบบ Traceability และการสร้างการรับรู้เรื่อง Traceability กับผู้บริโภค ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้จริง จะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีศักยภาพ สู่เป้าหมายของการเป็นครัวโลกและสร้างโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังการระบาดของ COVID-19 ต่อไป
No comments:
Post a Comment