กสว. จัดสรรงบ 'วิจัยแก้จน' หนุน บพท. เดินเครื่องนวัตกรรมแก้จน 10 จังหวัด - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Friday, 26 March 2021

กสว. จัดสรรงบ 'วิจัยแก้จน' หนุน บพท. เดินเครื่องนวัตกรรมแก้จน 10 จังหวัด

26 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ  ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  เป็นประธานเปิดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับหน่วยงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์   โดยการจัดงานวันนี้มีขึ้นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมมือขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระดับกระทรวงและระดับหน่วยงาน ให้บรรลุเป้าหมายอันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  กล่าวว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีมาช้านาน  โดยสิ่งที่เป็นปัญหาใต้ร่มความยากจน คือ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงออกแบบแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) เรื่อง “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ  ทำงานในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำสุดจากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index: HAI Index) ปี 2562 ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ มีจำนวนคนจน 131,040 คน ตามฐานข้อมูล Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP) โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่สร้างกลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดและสร้างกลไก  สร้างเครื่องมือกลางในการสำรวจ วิเคราะห์เชิงปริมาณความยากจนในพื้นที่เป้าหมายเพื่อจำแนกกลุ่มคนจน ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มเป้าหมาย 20% ล่าง ได้แก่ คนจนดักดาน/คนจนยากไร้ คนจนกลุ่มนี้จะประสานและส่งต่อความช่วยเหลือจากระบบสงเคราะห์ภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 2) กลุ่มเป้าหมาย 20% บน ที่มีปัญหาความยากจนจากหนี้สินภาคครัวเรือน การประกอบอาชีพ ซึ่งจะนำงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ ให้สามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ บพท. ยังได้ดำเนินการประสานทำความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในด้านการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการวิจัยร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด เพื่อติดตามและประสานงานการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ รวมถึงได้วางแนวทางการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (สศป.)และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  วิจัยนโยบาย จัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามกลุ่มเป้าหมายคนจน  ที่มีความแม่นยำ และทำการสังเคราะห์ภาพรวมและการเชื่อมโยงระบบข้อมูลในระดับชาติ พร้อมทั้งเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาความยากจนของโครงการวิจัยในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย เพื่อให้การจัดสรรสวัสดิการภาครัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

สำหรับในปี 2564 จะดำเนินงานขับเคลื่อนระบบความช่วยเหลือและติดตามให้คนจนสามารถหลุดพ้นปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม และขยายผลการทำงานจากพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา  โดยคัดเลือกจากจังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำสุดจากดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2562  โดย จังหวัดลำปางและเลยเป็นจังหวัดตามนโยบายการขับเคลื่อนไทยของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้เกิดการขยายผลและต่อยอดการขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
ด้านศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ประธาน กสว.) เปิดเผยข้อมูลว่า  กสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญ ทั้งนี้งบประมาณ เป็นเพียงต้นทุนหนึ่งที่การแก้ปัญหานี้สำเร็จลุล่วง แต่การร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ  โดยการวิจัยภายใต้การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ต้องไม่ได้ทำบนฐานคิดที่ว่า คนจนเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ดำเนินการผ่านมุมมองว่า เขาคือคนที่มีศักยภาพ หากเติมความรู้ นวัตกรรม จะสามารถแก้ปัญหาในครัวเรือนตนเองได้ โดยในปีงบประมาณ 2564 มีการจัดงบประมาณในแผนงานนี้กว่า 800 ล้านบาท


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages