หวังให้หนังสือนิทานเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและครอบครัว
สืบเนื่องจากการแถลงข่าว“ผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2564” โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นการประกวดหนังสือที่ตีพิมพ์โฆษณาเป็นเล่มบริบูรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2563 โดยมี นายพนม พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร ในปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 336 เรื่อง จากสำนักพิมพ์กว่า 100 แห่ง โดยมีหนังสือได้รับรางวัล 53 เรื่อง แบ่งเป็น รางวัลดีเด่น 14 เรื่อง รางวัลชมเชย 39 เรื่อง
ทั้งนี้ผลงาน ของ “ระพีพรรณ พัฒนาเวช” ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนมานาน ก็ได้รับรางวัลถึง 2 รางวัล คือรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือสำหรับเด็กเล็กอายุ 3–5 ปี ได้แก่ “เรื่องแตงโมลูกโตโต” จัดพิมพ์โดยองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ร่วมกับ มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี เรื่อง “เรายังรักกันทุกวันจ้ะ” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภายใต้โครงการภูมิคุ้มใจ ซึ่งหนังสือทั้ง 2 เล่ม ที่ได้รางวัลดังกล่าว เกิดจากการทำงานอย่างเข้มข้นของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้วางเป้าหมายที่จะทำให้หนังสือนิทานเป็นสื่อสร้างสรรค์ ในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็ก และเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีภายในครอบครัว
งานนี้ผู้เขียน “ระพีพรรณ พัฒนาเวช” กล่าวว่า ในฐานะคนทำงานก็รู้สึกดีใจนะคะ ไม่ใช่ดีใจที่เราได้รางวัล แต่ดีใจกับหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้มากกว่า นั่นก็คือแผนงานสร้างเสริมวัฒธรรมการอ่าน สนับสนุนโดย สสส. ที่ทำงานตรงนี้มานานแล้ว พอได้รางวัลมันก็เหมือนเป็นกำลังใจให้ทีมงานที่จะได้ทำสิ่งดี ๆ แบบนี้ต่อไป และที่ดีใจกว่านั้นก็คือเราทำงานให้เขาได้สำเร็จ เพราะเป้าหมายของการทำงานที่วางไว้ไม่ใช่ทำเพื่อรางวัล แต่เราทำเพราะอยากให้หนังสือได้เป็นสื่อที่จะช่วยทำให้เกิดมิติดี ๆ ในสังคม อย่างเช่นเรื่องแตงโมลูกโตโต เราก็ทำงานร่วมกันหลายฝ่าย กับโจทย์ที่ว่าสร้างสรรค์หนังสือสำหรับเด็กเล็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หนังสือเล่มนี้จึงมีเป็นเขียนภาษายาวีไว้ด้วย พ่อแม่จะได้อ่านให้ลูกฟังได้ เพราะผู้ปกครองทางพื้นที่ชายแดนภาคใต้บางท่านจะอ่านภาษาไทยไม่ได้ ส่วนการที่ใช้เรื่องราวเป็นเรื่องของแตงโมที่ถูกผ่า ก็จะสื่อเรื่องของการแบ่งปันที่เราอยากจะปลูกฝังให้กับเด็ก
ส่วนเรื่อง “เรายังรักกันทุกวันจ้ะ” เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด 19 มีที่มาจากเรื่องราวของครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์ที่มีลูกเล็ก เด็กเขายังไม่เข้าใจว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงหายไปไหนนาน ๆ ทำไมเวลากลับบ้านแล้วอยากวิ่งเข้าไปกอดแล้วทำไมได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และหลายครอบครัวก็เจอปัญหาที่ว่านี้ ทีนี้ทาง “พี่เจ” (คุณสุดใจ พรมเกิด) กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ก็เลยคิดขึ้นมาว่าอยากทำหนังสือสำหรับเด็กเล็กเพื่อเป็นสื่อให้เด็กได้เข้าใจ จึงได้เล่าเรื่องราวให้เราฟังจนเห็นภาพ ซึ่งต้องให้เครดิตเลยนะคะ เพราะไม่อย่างนั้นหนังสือเล่มนี้จะไม่เกิดขึ้นมาเลย และอีกส่วนหนึ่งคือต้องให้เครดิตคนทำภาพด้วยที่วาดรูปออกมาได้น่ารัก อ่อนโยนอบอุ่นมาก และมันเสริมกับเรื่องราวได้สมบูรณ์มาก ส่วนอีกทีมที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยคือ ทีม “ธนาคารจิตอาสา” ที่เขาได้ทำงานกับบุคคลากรทางการแพทย์เรื่องนี้อยู่พอดี ก็ได้ช่วยแนะนำในรายละเอียดต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือ ทั้งหมดนี้คือการทำงานร่วมกันแล้วมันเกิดผลตอบแทนคือคณะกรรมการผู้พิจารณาเล็งเห็นถึงความตั้งใจ ก็ดีใจกับทีมงานทุกท่านค่ะ เพราะทุกท่านทำงานกันอย่างเข้มแข็งและมุ่งมั่นมากที่จะทำให้หนังสือนิทานเป็นสื่อในการสร้างสุขภาวะที่ดีต่อเด็กและเยาวชน รวมไปถึงส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในครอบครัวด้วย เพราะสังคมยุคนี้เป็นที่รู้กันดีนะคะว่าเป็นโลกออนไลน์ เด็ก ๆ เข้าถึงการใช้มือถือได้ง่ายมาก ซึ่งในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับเด็กและวงการหนังสือมา ก็รู้สึกว่ามันน่ากลัวมากถ้าปล่อยให้เด็กอยู่กับเครื่องมือสื่อสารพวกนี้เพียงลำพัง
ท้ายนี้ก็อยากจะฝากคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองว่า การปลูกฝังการอ่านให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเด็กเล็ก จะเป็นการช่วยขัดเกลาจิตใจของเด็ก พลังของหนังสือนิทานจะมีผลต่อเด็กมาก จะช่วยให้เด็กเกิดกระบวนการ คิด วิเคราะห์ ประมวลผล การที่คุณพ่อคุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง นั่นคือเวลาที่ได้ใกล้ชิดกับลูก เกิดเป็นสายใยที่ผูกพันกันแน่นแฟ้นมากขึ้น ในทางความรู้สึกของเด็ก ๆ ก็คือได้รับความอบอุ่นความใส่ใจ มากกว่าการที่เค้านั่งดูอะไรต่าง ๆ ในมือถือเพียงลำพัง ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวนะคะ
สำหรับผู้ที่สนใจอยากอ่านหนังสือนิทาน เรื่อง แตงโมลูกโตโต และ เรายังรักกันทุกวันจ้ะ สามารถดาวน์โหลดเพื่ออ่านได้ฟรีที่ www.happyreading.in.th
No comments:
Post a Comment