นักวิจัยทุนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โชว์เทคนิคการปลูกและดูแลรักษาองุ่นไชน์มัสแคท ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ณ สวนองุ่นไชน์มัสแคท อำเภอพรหมพิราม จ.พิษณุโลก หลังจากสะสมความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการเก็บเกี่ยวองุ่นราคาแพงจากทั้งสวนองุ่นในญี่ปุ่นและสวนองุ่นในไทย
คนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และหัวหน้าโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไซน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สาธิตการปลูกองุ่นไชน์มัสแคมระหว่างการอบรมการปลูกและการดูแลรักษาองุ่นไชน์มัสแคทพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ณ ไร่ฟาร์มอดุลย์ ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์พร้อมคณะ ได้สะสมความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคท ทั้งจากญี่ปุ่นและสวนองุ่นในไทย ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและตาก ทำให้ได้รับทราบปัญหาของเกษตรกรโดยตรง และได้ทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาในแปลงปลูกองุ่นไซน์มัสแคท ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นได้รวบรวมองค์ความรู้ เพื่อจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการโรคและแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ และการประเมินคุณภาพองุ่น
สำหรับองค์ความรู้เกี่ยวกับองุ่นไซน์มัสแคทครอบคลุมงานวิจัยด้านการผลิต ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูกและการดูแลทั้งการตัดแต่งกิ่ง กาควบคุมทรงพุ่ม การให้ปุ๋ยและน้ำ การตัดแต่งช่อไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว รวมทั้งงานวิจัยการเข้าทำลายและป้องกันกำจัดโรค เช่น โรคราน้ำค้าง โรคกิ่งแห้ง โรคแอนแทรคโนส สแคป โรคใบจุด โรคราสนิม โรคราแป้ง โรคลำต้นและรากเน่า การเข้าทำลายและป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้หอม แมลงวันผลไม้ และหนอนเจาะสมอฝ้าย ไปจนถึงการจัดการผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว และการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำการตลาด และจัดการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก
ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็นหนึ่งใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
No comments:
Post a Comment