ภาคประชาสังคมวอน "บิ๊กตู่" ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ตามกฎหมาย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระจายอำนาจ อปท. ร่วมคุมการระบาด - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Thursday, 29 April 2021

ภาคประชาสังคมวอน "บิ๊กตู่" ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ตามกฎหมาย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระจายอำนาจ อปท. ร่วมคุมการระบาด

ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมช่วยเหลือ ปชช. ตกงาน กักตัว เสริมการดูแลทางการแพทย์  


วันนี้(29 เมษายน2564)  นายไมตรี  จงไกรจักร  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณะภัย 2550 มาตรา 4 ระบุไว้ชัดเจนว่าโรคระบาดในมนุษย์ เป็น 1 ใน 18 ประเภทสาธารณภัย ที่สามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ  ซึ่งเมื่อประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว มาตรา 20 ระบุว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้งบประมาณในการจัดการดูแล ควบคุมป้องกัน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องถูกสตง. ตรวจสอบ ซึ่งวันนี้อปท.กว่า ร้อยละ 90 มีงบนี้อยู่ ไม่จำเป็นต้องของบใหม่แต่อย่างใด และเมื่อประกาศเป็นภัยพิบัติทางจังหวัดเองก็จะมีงบทดลองจ่าย 20 ล้านบาทด้วย 


นายไมตรี กล่าวต่อว่า วันนี้ใช้เพียงพ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งจะใช้บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังช่วยทำได้น้อย ส่วนอาสาสมัครที่อื่นๆ เช่น ชรป., อปพร., อาสาสมัครภัยพิบัติ ไม่สามารถเข้าไปช่วยตรงนั้นได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ประกาศภัยพิบัติผู้อำนวยการท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการจังหวัดสามารถให้ใครก็ได้ช่วยทำงาน ยิ่งตอนนี้ล็อคดาวน์ ขอความร่วมมือไม่ให้ออกจากบ้าน คนตกงาน คนกักตัวก็จะยิ่งทำให้มีคนต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางการแพทย์ 


"รอบนี้การระบาดโควิด -19 รุนแรงที่สุด มีการติดเชื้อจำนวนมากและกระจายไปทั่วทุกจังหวัดไม่มีเว้น ฉะนั้นถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบควบคู่ไปกับการดูแลผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ดังนั้นจึงขอเรียกร้องท่านนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งมีการรวบพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง 31 ฉบับไปแล้ว ซึ่งรวมถึงพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 นั้นให้มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติให้ท้องถิ่นในการดูแลประชาชนสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ" นายไมตรี กล่าว 

ด้าน นายเจกะพันธ์  พรมมงคล  ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนภาคใต้ กล่าวว่า การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ หยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การรวมกลุ่มของประชาชน ในภารกิจต่างๆ อาทิ การตั้งด่านตรวจสกัด การตรวจหาเชิงรุก การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการผลิตหน้ากากผ้า เจลล้างมือ และทำงานร่วมกันกับตลาดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทางรัฐบาลควรนำบทเรียนเหล่านี้มาใช้รับมือการแพร่ระบาดในรอบที่ 3 นี้ โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมรับมือการระบาดของโควิด-19 ที่พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรองรับ สามารถใช้งบประมาณและบุคลากรในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย 


“ขอให้นายกรัฐมนตรีได้เร่งประกาศในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเร็ว เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เร่งดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ และควรใช้แนวทางการกระจายอำนาจให้ทุกๆ ภาคส่วนที่มีความพร้อมในการป้องกัน บรรเทา วิกฤติทางสุขภาพในครั้งนี้ ได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะในสภาวะวิกฤติแบบนี้ลำพังรัฐบาลเองคงจะยากในการควบคุมสถานการณ์ จำเป็นต้องให้ภาคประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเร็ว”นายเจกะพันธ์ กล่าว

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages