“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ปี 2564 (วันที่ 1 มกราคม - 16 พฤษภาคม 2564) พบผู้ป่วยแล้ว จำนวน 121 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งโรคดังกล่าวจะพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ของทุกปี โดยจากข้อมูลย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) พบผู้ป่วยเฉพาะในเดือนมิถุนายน จำนวน 235, 173, 878, 202 และ 528 ราย ตามลำดับ”
“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และช่วงนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ซึ่งเห็ดหลายชนิดจะเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเห็ดป่า มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษที่ไม่สามารถรับประทานได้ ซึ่งเห็ดดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้สับสนได้ โดยทั่วไปประชาชนมักจะเก็บเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเห็ดที่ขึ้นใกล้ที่พักอาศัยมารับประทาน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่พบการเกิดโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ คือการขาดประสบการณ์ในการสังเกตชนิดของเห็ดและการจำแนกชนิดของเห็ดที่รับประทานได้และรับประทานไม่ได้ หรือการรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และเห็ดพิษไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน หากเก็บเห็ดมารับประทานแล้วพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ซึ่งเกิดภายหลังการรับประทานภายใน 6-24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงจะทำให้เกิดภาวะไตวาย ตับวายจนทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ควรรีบปฐมพยาบาลด้วยการทำให้อาเจียนเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วย โดยใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน (activated charcoal) แล้วดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อน แล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง แล้วจึงรีบนำส่งแพทย์โดยเร็วที่สุดพร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ หากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากอาจทำให้สำลักเข้าปอดได้ กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเก็บเห็ดจากธรรมชาติมารับประทานในช่วงนี้ ควรเลือกเห็ดที่มาจากการเพาะพันธุ์ขาย เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง มารับประทานเพื่อความปลอดภัย หลีกเลี่ยงเห็ดจากธรรมชาติ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร.1367 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 23 พฤษภาคม 2564
No comments:
Post a Comment