สกสว. เผยแผนงานวิจัย รองรับไทยก้าวเข้าสู่สังคมผมสีดอกเลา ปี’65 - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Tuesday, 11 May 2021

สกสว. เผยแผนงานวิจัย รองรับไทยก้าวเข้าสู่สังคมผมสีดอกเลา ปี’65

11 พฤษภาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  เผยแผนงานวิจัยสังคมสูงวัย  ซึ่งเป็นอีกแผนงานวิจัยสำคัญที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ประเทศไทย กำลังจะกลายเป็นสังคมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ในปี 2565  โดยอัตราของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 15 %  และในปี 2578 จะเพิ่มขึ้นเป็น 20 % (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ให้ข้อมูลว่า แผนงานวิจัยดังกล่าว ออกแบบมา โดยมุ่งเน้น การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา หรือยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โดยใช้ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองได้อย่างมีคุณค่า และสร้างกลไกที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขพร้อมรับสังคมสูงวัย

แผนงานวิจัยนี้มีกรอบการดำเนินงานครอบคลุมประเด็นการวิจัยเพื่อหาแนวทางและมาตรการเพื่อรองรับและสร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันของประชากรทุกช่วงวัย  ศึกษารูปแบบและแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับสถานการณ์สังคมสูงอายุ  การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของสังคมสูงวัย และการเตรียมพร้อมของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ รวมทั้งการดำเนินชีวิตในวัยเกษียณและการมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข  ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิม  ระบบฐานข้อมูลเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว  ระบบการจ้างงานสำหรับผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีอาชีพและรายได้หลังวัยเกษียณ และการวิจัยเพื่อวางแผนและเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุทั้งในด้านการอุปโภคและบริโภคด้วย

เป้าหมายการดำเนินงานที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยภายใต้แผนงานดังกล่าวคือ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย รวมถึงโครงสร้างประชากร ระบบบริการ ระบบกำลังคน ระบบข้อมูล ระบบเทคโนโลยี ระบบการเงิน การคลัง ตลอดจนกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่ผลกระทบเชิงสังคมในการมีความพร้อมตั้งแต่เกิดจนถึงวัยสูงอายุ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เพื่อร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป


ที่มาภาพประกอบ : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages