นายกรัฐมนตรีรับมอบรายงานสรุปเชิงนโยบายจากผลงานวิจัยของกองทุน ววน. เพื่อสนับสนุน “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” เปิดรับนักท่องเที่ยวนำร่อง ผช.ปลัดท่องเที่ยวฯร่วมพัฒนาเว็บท่าให้บริการนักท่องเที่ยวเข้าประเทศและสามารถเชื่อมต่อกับงานอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย (อสท.) พร้อมการเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผลกระทบและมาตรการเยียวยาภาคการท่องเที่ยวในยุควิถีใหม่
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะลงพื้นที่ ณ ท่าอากาศภูเก็ต เพื่อเปิดโครงการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องหลังประสบภาวะวิกฤตโควิด-19 ก่อนจะเตรียมการเปิดพื้นที่อื่น ๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป
ในโอกาสนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะทำงานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้าน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะ ได้นำเสนอรายงานสรุปเชิงนโยบายแด่นายกรัฐมนตรี ในงาน “Hug Thai Hug Phuket” ด้วย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
ผลงานประกอบด้วย “การพัฒนาแพลตฟอร์ม Entry Thailand กับการเปิดรับนักเดินทางสู่ประเทศไทย” ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย มีนายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้ทุนวิจัยของ สกสว. เพื่อจัดตั้งกลไกเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการเดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบของเว็บท่า “Entry Thailand” ตามนโยบายของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยรวบรวมเว็บไซต์และข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ระบบการขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย ระบบขายประกันสุขภาพ และระบบจองสถานที่กักตัวทางเลือก ASQ (Alternative State Quarantine) และ ALQ (Alternative Local Quarantine) รวมทั้งโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA+ (Safety and Health Administration Plus) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตามมาตรการของรัฐบาล เช่น การเปลี่ยนแปลงจำนวนวันในการกักตัว หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ตามกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง เพื่อรองรับการเปิดประเทศในอนาคต โดยเริ่มใช้อย่างเป็นทางการผ่านการนำเสนอบนเว็บไซต์ของสถานทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาใช้งานระบบจากทั่วโลกจองสถานที่กักตัวทางเลือกกว่า 181 รายการจอง คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 7,311,591 บาท (ข้อมูลถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564) โดยผลงานนี้สามารถเชื่อมต่อกับงานอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย (อสท.) ที่คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
ขณะที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้สนับสนุนงาน “สัมผัสวิถีชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองภูเก็ต” ภายใต้โครงการการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ สู่ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพในพื้นที่ภาคใต้ โดย ดร.นราวดี บัวขวัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และคณะ ซึ่งมุ่งเน้นการนำคุณค่าและอัตลักษณ์ชุมชนสู่การเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้กับพื้นที่ภูเก็ตรวมถึงพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อสร้างทางเลือกและโอกาสในการเพิ่มความสามารถด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมรองรับการเปิดประเทศ ผ่านวัฒนธรรมทรงคุณค่า เรียนรู้ และลงมือทำ ภายใต้คำขวัญ เสพสุนทรีย์เคหสถาน สไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ลิ้มรสชาติตำรับอาหารบาบ๋า ชื่นชมความงามของอัตอาภรณ์ ซึมซับเสน่ห์เปอรานากัน ตื่นตากับความร่วมสมัย เปิดประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ณ ดินแดนมังกรฮ่ายเหล็งอ๋อง รู้จักแล้วรักจัง ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมี “แนวทางการจัดตั้งอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย กับการเดินหน้าภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการกระบวนการการพัฒนาองค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเพื่อความยั่งยืน โดย ดร.กาญจนา สมมิตร และคณะ สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อศึกษาแนวทางการ พัฒนาองค์กรกลางที่เชื่อมประสานงานอาสาสมัครทางการท่องเที่ยวไทยทั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศในบริบทของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นโอกาสในการยกระดับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยว ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเพิ่มจำนวนบุคลากรที่ช่วยสอดส่องดูแล ความปลอดภัยในสถานที่ท่องเที่ยว การเก็บขยะทะเล การทำแนวกันไฟป่าเพื่อลดปัญหามลพิษ โดยอาสาสมัครท่องเที่ยวไทยประกอบด้วย บุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ที่มีจิตอาสาช่วยเหลืองานในภาคส่วนต่าง ๆ ของการท่องเที่ยวทั้งในภาวะปกติ ภาวะฉุกเฉิน และในรายกิจกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่กำหนดยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยว
“โควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยวผลกระทบและแนวทางการแก้ปัญหา” ภายใต้โครงการการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมี ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและมาตรการเยียวยาของภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงประมาณ 4.4 แสนล้านบาท จากปี 2563 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และชลบุรี ซึ่งมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจนันทนาการ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก ธุรกิจโรงแรมที่พักและธุรกิจขนส่งตามลำดับ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายประกอบด้วย
1) การช่วยเหลือผลกระทบระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและแรงงาน โดยรัฐบาลอาจตั้งศูนย์บัญชาการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และประมวลผลที่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อประกอบการวางแผนและแก้ปัญหาป้องกันการระบาดได้อย่างรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแบบเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น รวมถึงจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากและรวดเร็วขึ้น
2) การกระตุ้นการท่องเที่ยวและการเตรียมพร้อมเพื่อการเปิดประเทศ โดยเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและสาธารณสุข ตลอดจนเตรียมพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต
3) การปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวหลังยุคความปกติใหม่ รัฐบาลควรช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงการจัดทำ เก็บข้อมูลและการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการการท่องเที่ยวสู่การวางแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังใช้ฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการท่องเที่ยว เช่น ต่อยอดเป็นระบบเตือนภัย พัฒนาทักษะแรงงานของภาคการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมพร้อมยกระดับการท่องเที่ยววิถีใหม่และรูปแบบใหม่
No comments:
Post a Comment