กสว. หารือการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ปี 65 – 70 เน้นสนับสนุน ‘คนวิจัย’ ทุกระดับ ทุกภาคส่วน - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Friday, 20 August 2021

กสว. หารือการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ปี 65 – 70 เน้นสนับสนุน ‘คนวิจัย’ ทุกระดับ ทุกภาคส่วน

20 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานการประชุม  คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ครั้งที่ 8/2564  ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยประเด็นความก้าวหน้าในการจัดทำ (ร่าง) แผนการพัฒนาบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2565 – 2570 ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือวันนี้  

รศ.ดร. คมกฤต  เล็กสกุล  รักษาการ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. พร้อมด้วย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมให้ข้อมูลถึง (ร่าง) แผนฯ ฉบับดังกล่าว ว่าตามที่ กสว. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรม โดยมี ดร.พสุ โลหารชุน ดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้อนุกรรมการฯ ชุดนี้มีหน้าที่จัดทำนโยบายและแผน เพื่อการพัฒนาบุคลากรวิจัยทุกระดับ และแนวทางสร้างแรงจูงใจ หรือสิทธิประโยชน์ รวมถึงมาตรการอื่นที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   

วันนี้ คณะอนุกรรมการฯ ขอนำเสนอความก้าวหน้าของ (ร่าง) แผนฯ ฉบับดังกล่าว เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ  โดยประเด็นท้าทายของการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยตอนนี้ คือ 1. ทิศทางของการบริหารทรัพยากรบุคคลในระบบวิจัยและนวัตกรรมไม่ชัดเจนและขาดเอกภาพ จึงต้องวางแผนและกำหนดทิศทาง ของการบริหารทรัพยากรบุคคลในระบบวิจัยและนวัตกรรมอย่างชัดจน ครอบคลุม เท่าทันต่อสถานการณ์โลก และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคม เพื่อให้ได้กำลังคนสมรรถนะสูง และเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง 2. จำนวนและคุณภาพของบุคลากรไม่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ควรสร้างและพัฒนาบุคลากรตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศทั้งในปัจจุบันและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3. กลไกหรือนวัตกรรมการพัฒนาบุคลากรยังไม่ครอบคลุมทั้งระบบวิจัยและนวัตกรรม ต้องให้ความสำคัญบุคลากรในทุกกลุ่มสาขา ทุกช่วงวัย รวมถึงให้ความสำคัญกับบุคลากรสายสนับสนุน ทั้งกำลังคนภายในและต่างประเทศ 4. กลไกหรือนวัตกรรมการพัฒนาบุคลากรวิจัย ขาดความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ควรให้ความสำคัญกับบทบาทการสร้างและพัฒนาบุคลากร ที่เชื่อมโยงกับภาคเอกชนสร้างการพัฒนาแบบส่งเสริมกัน 

 

สำหรับจุดมุ่งเน้นของ (ร่าง) แผนฯ ฉบับนี้ คือ 1. พัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมในสาขาเป้าหมายตามความต้องการของประเทศ 2. สร้างเส้นทางอาชีพบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมตลอดช่วงวัย 3. สร้างความเชื่อมโยง (Linkage) ระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและสถานประกอบการ 4. พัฒนาทั้ง 3 มิติ ประกอบด้วย 1) มิติการสร้าง /ผลิต /จัดเตรียม 2) มิติการพัฒนา /รักษา และ 3) มิติการเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์กำลังคน 5. สร้างระบบนิเวศน์ (Eco System) ที่เหมาะสมของระบบบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม 6. ร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบัน หรือ องค์กรหลักทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 7. กำหนดเป้าหมายแผนการพัฒนาบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรมที่ชัดเจน และสอดคล้องกับทิศทางของประเทศ และ 8. พัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

 

ทั้งนี้ ประธาน กสว. ให้ข้อเสนอแนะว่า ในส่วนของการกำลังคนด้านการวิจัย ใน (ร่าง) แผนฯ ฉบับนี้    ควรจะมีการจัดทำรายละเอียดตามประเภทของกลุ่มบุคลากรวิจัยที่แตกต่างกัน เช่น นักวิจัย นักบริหารจัดการงานวิจัย นักประเมิน  รวมถึงนักถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ เนื่องจากบุคลากรแต่ละกลุ่มมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน มีเส้นทางอาชีพ (Career Path) ที่แตกต่างกันออกไป แม้จะอยู่ในระบบวิจัยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม (ร่าง) แผนการพัฒนาบุคลากรการวิจัยละนวัตกรรม พ.ศ. 2565 – 2570   ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนา ทางทีมอนุกรรมการฯ จะนำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมวันนี้ ไปพัฒนา (ร่าง) แผนฯ นี้ ตามกระบวนการต่อไป 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages