เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)” จัดการประชุมชี้แจง (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 - 2570 และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 44 ได้กำหนดให้ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)” มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จัดทำกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. และจัดทำหลักเกณฑ์การจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) รวมถึงการกลั่นกรองคำของบประมาณในระบบวิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. และจัดทำคำของบประมาณของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนี้ สกสว. จึงได้มีการจัดประชุมชี้แจง (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ (ร่าง) แผนด้าน ววน. และแนวทางการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงมีข้อมูลพร้อมสำหรับการเตรียมการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงาน
โดยการจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อชี้แจง (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 หลักเกณฑ์การจัดทำคำของบประมาณและการจัดสรรงบประมาณ และขั้นตอนการยื่นคำของบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเพื่อสร้างพื้นที่การสื่อสารกับประชาคม ววน. ผ่านการบรรยายพิเศษจากผู้บริหาร สกสว. เนื่องจาก ระบบ ววน. ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ นอกจากนี้การสร้างความเข้าใจร่วมกันและสื่อสารไปยังประชาชนและรัฐสภาเพื่อเห็นความสำคัญของการลงทุนในระบบ ววน. ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า การจัดทำกฎหมายการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม อยู่ในแผนของการดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ที่ผ่านมาเมื่อเราทำงานวิจัย หน่วยงานให้ทุนจะเป็นเจ้าของ กฎหมายฉบับนี้จึงให้สิทธิ์กับผู้ที่ทำวิจัยเป็นเจ้าของได้เลย อีกส่วนที่เราได้ดำเนินการคือ การจัดความรู้งานวิจัยในเชิงชุมชนและสังคม ช่วงโควิดทำให้เกิดการพัฒนาตรงนี้มาก มีคนจำนวนมากที่ตกงานและกลับไปประกอบอาชีพที่บ้าน และได้ทำงานด้านการเกษตร ส่วนนี้ถ้าใช้ความรู้ทางงานวิจัยมาสนับสนุนได้ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ เราจะได้เห็นว่าเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อมีปัจจัยเพิ่มมากขึ้น เราจะได้เห็นงานวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน สังคมและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ
“ทุกวันนี้เราพูดว่าการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเป็นการลงทุน ไม่ใช้ค่าใช้จ่าย การวิจัยจะสร้างผลประโยชน์เพิ่มเติมมากขึ้น สกสว. รวมทั้งองค์กรในระบบบริหารงานวิจัยจะต้องเอาตัวเลขมาแสดงให้เห็นว่าลงทุนวิจัยร้อยกว่าล้าน ทั้งสร้างความรู้พื้นฐานหรือต่อยอด ถ้ามันสร้างผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นของใหม่หรือทำให้เกิดความกินดีอยู่ดี ซึ่งตีค่าเป็นเงินเกินกว่าสามสี่พันล้านได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เขาเชื่อมั่นได้ ประเทศไทยทำเรื่องการพัฒนาอีอีซี (EEC) หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้ความรู้ใหม่ทั้งนั้น และเราพบว่าเรามีขีดความสามารถที่จะดำเนินการได้ ดังนั้น การลงทุนสามสี่พันล้านแต่ได้ผลประโยชน์หมื่นๆล้าน ใครก็สนับสนุนและเห็นด้วยกับการลงทุนด้าน ววน.” ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร กล่าวสรุป
No comments:
Post a Comment