เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) เป็นประธานเปิดการ รับฟังความคิดเห็น “(ร่าง) กฎหมายลำดับรองของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ....” ครั้งที่ 1 พร้อมกล่าวถึงร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... ว่า
ที่ผ่านมารัฐได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้รับทุน หรือนักวิจัยไม่สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย และกฎระเบียบของภาครัฐ จึงไม่มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์มากพอที่จะส่งผล กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เพื่อให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งการต่อยอดการวิจัยและต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และเป็นแรงจูงใจให้มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น สมควรกำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากเงินสนับสนุนของภาครัฐได้ มีกลไกการบริหารจัดการและติดตามการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งกำหนดมาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมและประโยชน์ส่วนรวม
โดยร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีร่วมประชุมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอแล้วนั้น และ วานนี้ (10 กันยายน 64) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติรับรองร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 7 มาตราในวาระสอง จากทั้งหมด 20 มาตรา และจะมีการพิจารณามาตราที่เหลืออีกครั้ง รวมทั้งจะมีการพิจารณาลงมติรับรองทั้งฉบับ ในวันที่ 17 กันยายน 64 ก่อนประกาศใช้ต่อไป ซึ่ง โอกาสนี้ สกสว. ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้นำหลักการ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง มาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น “(ร่าง) กฎหมายลำดับรองของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ....” ครั้งที่ 1 ในวันนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศสภาฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... (ในส่วนของกฎหมายลำดับรอง ที่ 1, 3, 4 ,6 และ 8 จากทั้งหมด 14 ลำดับ) ให้ร่างกฎหมายนี้ มีความสมบูรณ์ และครบถ้วนตามเจตนาของการผลักดันการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัย ที่จะผลิตและสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ อาทิ การกำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ และการวิจัยและนวัตกรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
การให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย ให้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ในการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ติดข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุน ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้มีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา และมีตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ ทำให้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม จากก้าวแรกที่ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าว
นอกจากภารกิจในการร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว สกสว. ยังมีความร่วมมือที่สำคัญ คือ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และการต่อยอดนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
No comments:
Post a Comment