แม้ว่าภาพรวมในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม หากมองถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเขื่อนหลักที่ส่งน้ำเข้ามาดูแลภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 41% และ 24 % เท่านั้น (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564) ด้วยปริมาณน้ำเพียงเท่านี้ อีกทั้งต้องนำไปใช้ดูแลพื้นที่ปลูกข้าวและพัฒนาเศรษฐกิจของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง อาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อีกรอบหนึ่ง
ประเด็นที่ห่วงใย คือ ประชาชนจำนวนมากกลับไปบ้านเกิดในต่างจังหวัด เนื่องจากไม่มีงานทำในเมืองจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเกษตรเป็นความหวังในการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่หากในอนาคตที่จะถึงเราไม่มีน้ำในการทำเกษตร ประชาชนที่กลับไปบ้านเกิดจะเดือดร้อนมากขึ้นอีก ควรมีมาตรการรองรับล่วงหน้าไว้ด้วย
นอกจากนี้ งานวิจัยได้ประเมินผลเสียหายจากน้ำท่วม พบว่า นาข้าวเสียหายกว่า 3.5 ล้านไร่คิดเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่เพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อข้าวมากที่สุดคือ ภาคอีสาน น้ำท่วมข้าวประมาณ 2 ล้านไร่ สำหรับภาคกลางและภาคเหนือ นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1 ล้านและ 5 แสนไร่ตามลำดับ อย่างไรก็ตามความเสียหายจะถูกประเมินจากชนิดของข้าว เช่น ข้าวเจ้าในภาคกลาง ข้าวเหนียวในภาคอีสานตอนบน และข้าวหอมมะลิในภาคอีสานตอนล่าง รวมถึงราคาข้าวในแต่ละชนิด ณ ขณะนั้นโดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ เปิดเผยว่า “ ผลการประเมินโดยแบบจำลองตัวแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2563 ทำให้เราสามารถประเมินความเสียหายของน้ำท่วมได้ โดยภาพถ่ายดาวเทียม มีจุดเด่น คือ มีข้อมูลที่อัพเดตทุกวัน ลดความยุ่งยากในการสำรวจในพื้นที่ที่มีอุปสรรคจากน้ำท่วม เป็นการใช้ข้อมูล BIG DATA ในการบริหารจัดการภัยน้ำที่ทันสมัยในอีกรูปหนึ่ง งานวิจัยมีความตอบโจทย์ตามคำแนะนำของ คณะกรรมการส่วนภูมิภาคของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCAP ด้านการบริหารจัดการภัยในอนาคตโดยคำนึงถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยด้วยการออกนโยบายที่ถูกต้องและแม่นยำกับสถานการณ์ นอกจากการดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติแล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ยังได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงระบบประเมินและเชื่อมโยงผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานในระดับนานาชาติ ตามกรอบเซนได, SDGs และ ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย อีกเช่นเดียวกัน ”
No comments:
Post a Comment