ซินโครตรอนระดมผลงานร่วมแสดง “มหกรรมงานวิจัยฯ 64” - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 24 November 2021

ซินโครตรอนระดมผลงานร่วมแสดง “มหกรรมงานวิจัยฯ 64”

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ระดมผลงานวิจัยร่วมจัดแสดงใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” ทั้งเครื่องตรวจวัดความสุกผลไม้ แก้วหน้าที่พิเศษเพื่อกักเก็บพลังงานสะอาด ฟิล์มคาร์บอนแกร่งเหมือนเพชรเพื่อบรรจุภัณฑ์อาหาร ระบบปรับปรุงคุณภาพอัญมณีด้วยแสงซินโครตรอน เครื่องเร่งอนุภาคเพื่อการเกษตร หน้ากากผ้าไหมทางการแพทย์ และชุดทดสอบการซึมผ่านของเหลวของชุด PPE พร้อมทั้งจัดการอบรมเชิงลึกการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน    
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” (Thailand Research Expo 2021) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สังกัดกระทรวง อว. ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยทางสถาบันฯ ได้นำผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์มาจัดแสดงทั้งหมด 7 ผลงาน ซึ่งสร้างประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  
งานวิจัยของสถาบันฯ ที่นำมาจัดแสดงทั้ง 7 ผลงาน ได้แก่ 
1. การพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารแบบยั่งยืน ทำให้บรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติป้องกันออกซิเจนซึมผ่านเข้าไป เพื่อให้จุลินทรีย์เติบโตช้าและลดอาหารเน่าเสีย 

2. แก้วหน้าที่พิเศษขั้นสูงเพื่อกักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคต สามารถพัฒนาเป็นขั้วแบตเตอรี่ลิเทียมในภาคอุตสาหกรรม และประดิษฐ์เป็นต้นแบบเซลล์แบตเตอรี่เพื่อใช้งานจริง 

3. ระบบ L-O-X สำหรับศึกษาการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีด้วยแสงซินโครตรอน เพื่อให้ได้สีที่สวยขึ้นหรือตรงตามความต้องการของตลาด 

4. การประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นด้านการเกษตร โดยผลิตรังสีเอกซ์เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้สดและผลผลิตทางการเกษตร

5. การพัฒนาเครื่องตรวจวัดแก๊สชนิดโลหะออกไซด์บนแผ่นพอลิเมอร์สำหรับติดตามความสุกของผลไม้ โดยสร้างลวดลายของเซ็นเซอร์ด้วยแสงซินโครตรอน และสามารถตรวจจับแก๊สเอทิลีนที่เป็นตัวชี้วัดความสุกในผลไม้ได้ ตรวจจับได้รวดเร็ว มีขนาดเล็ก พกพาและใช้งานได้สะดวก 

6. การพัฒนาชุดทดสอบการซึมผ่านของของเหลวภายใต้ความดันเพื่อประเมินประสิทธิภาพวัสดุผลิตชุด PPE และ 

7. การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาหน้ากากผ้าไหมเพื่อทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ ซึ่งผลการทดสอบพบว่าสามารถป้องกันละอองไอ-จามได้ดีกว่าหน้ากากทางการแพทย์และป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้  
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้จัดการอบรมเชิงลึกการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ภายใต้งานมหกรรมงานวิจัยฯ ในวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน โดยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ได้บรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน และ ผศ.ดร.พิษณุ พูลเจริญศิลป์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมบรรยายในเรื่อง “ทิศทางเทคโนโลยีฟิล์มบางสำหรับอุตสาหกรรมไทยในอนาคต”






No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages