ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบนวัตกรรมเครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจร และวิสาหกิจชุมชนข้าวทิพย์ช้าง จังหวัดลำปาง เพื่อไว้ใช้งาน และส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร โดยมี นายอนวัช สัตตยบุศย์ ปลัดจังหวัดลำปาง ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. จังหวัด กล่าวต้อนรับ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) ให้กล่าวรายงาน ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจร หมู่ 4 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องอบแห้งฯ ดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จที่นักวิจัยไทยสามารถผลิตได้เอง โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำมามอบให้เกษตรกรในพื้นที่ ตำบลพิชัย จังหวัดลำปาง นำไปใช้ประโยชน์แล้ว และขณะนี้ มีบริษัทเอกชน รับไปผลิตต่อและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศด้วย ซึ่งส่วนตัวรู้สึกดีใจมาก พร้อมยังชี้ให้ประชาชนได้เห็นว่า รัฐบาลพร้อมที่จะเข้ามาช่วยและแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ระยะปานกลางและระยะยาว ทั้งนี้ จะเห็นว่าเกษตรกรที่นำเครื่องอบแห้งฯ ไปใช้ล้วนเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีความรู้เกี่ยวข้องด้านการเกษตร มาช่วยกันทำเป็นวิสาหกิจชุมชน และถือเป็นยุคใหม่ของเกษตกรรมในประเทศ
ส่วนผลการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือโครงการ U2T ส่วนใหญ่แล้วอยากให้มีการต่อยอดโครงการในระยะต่อไป เนื่องจากการทำงานร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชน มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบของชุมชน ทำให้ชาวบ้านพอใจ และนักศึกษาที่ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนต่างได้รับความรู้มากขึ้น
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1-5 ในวันนี้ วช. ได้นำนวัตกรรมเครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน ของ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรมาส เลาหวณิช รองผู้จัดการ ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน มหาวิทยาลัย
มหาสารคาม ที่ วช. และ กอ.รมน. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย มาแก้ไขปัญหาเรื่องความชื้นของข้าวและเมล็ดพันธุ์เกษตร โดยได้มีการขยายผลไปในพื้นที่ดูแลของ กอ.รมน. แล้วใน 4 ภูมิภาค
สำหรับ เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน เป็นนวัตกรรม เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย และได้รับการสนับสนุนโครงการส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ไทย ประจำปี 2559 ของ วช. ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว ได้ถูกนำมาสาธิตการใช้เครื่องในกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกร เป็นอุปกรณ์ที่กำเนิดรังสีอินฟราเรดแบบใช้ก๊าซเชื้อเพลิงเผาในแผ่นเซรามิกร้อน และแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา สวนแก๊สร้อนจากการเผาไหม้ จะถูกลมพัดเป่าไปด้านท้ายของถังอบ เป็นลมร้อนสำหรับอบแห้งต่อเนื่องจากรังสีผลิต จุดเด่นของวิธีการอบแห้ง คือ การได้ผลการอบแห้งที่ดี ทั้งในด้านการใช้พลังงานและด้านคุณภาพของวัสดุ โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่ผ่านการอบแห้งด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพดีเทียบเคียงกับวิธีอื่น
นวัตกรรมเครื่องอบแห้งฯ สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานยังสถานที่ต่าง ๆ มีความสามารถในการทำงานประมาณ 0.5-3 ตันวัตถุดิบต่อชั่วโมง (เปลือกไม้ยูคาลิปตัส ข้าวเปลือก เมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ) สามารถลดความชื้นได้ 4-6 เปอร์เซ็นต์ w.b. ในเวลา 3-5 นาที นอกจากนั้นยังพบว่า วัสดุมีสภาพร่วนขึ้นไม่เกาะติดกัน ทำให้สามารถนำไปย่อย ลดขนาดได้ดีขึ้น ใช้เชื้อเพลิงก๊าซ LPG ประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อชั่วโมง กำเนิดรังสีอินฟราเรด และ
ใช้กำลังไฟฟ้ารวมประมาณ 3,000 วัตต์ ด้านการใช้แรงงานในการควบคุมการทำงานของเครื่อง จะใช้แรงงานอยู่ที่ 1-2 คน จึงเป็นเครื่องอบแห้งที่ใช้พลังงานได้คุ้มค่า ประหยัดเชื้อเพลิง และค่าจ้างแรงงาน เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดย่อม กลุ่มเกษตรกรสามารถอบแห้งได้ทั้งวัสดุที่มีลักษณะเป็นผงก้อนเม็ด เมล็ดพืช ถือเป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่เหมาะสำหรับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ รมว.อว ยังรับชมการสาธิตการใช้งานนวัตกรรม “เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน” และพบปะผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจร บ้านต้นยาง ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวทิพย์ช้าง บ้านจ๋ำ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และเกษตรกรที่รับมอบผลงานนวัตกรรมทางการเกษตรด้วย
No comments:
Post a Comment