19เครือข่ายภาคประชาชน เดินหน้าค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ชี้การรวมกลุ่มกันดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาและทำประโยชน์สาธารณะคือเสรีภาพ ต้องไม่ถูกควบคุม - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 15 December 2021

19เครือข่ายภาคประชาชน เดินหน้าค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ชี้การรวมกลุ่มกันดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาและทำประโยชน์สาธารณะคือเสรีภาพ ต้องไม่ถูกควบคุม

เมื่อวันพุธที่15 ธันวาคม 2564 ที่โรงแรมกานต์มณีพาเลซ กรุงเทพฯ เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้เสนอ โดยมีตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน19 กลุ่ม ร่วมกิจกรรม เช่น เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายแรงงาน กลุ่มองค์กรสวัสดิการชุมชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุ องค์กรด้านเด็ก เครือข่ายผู้บริโภค และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ เข้าร่วมรวมถึงแสดงตนออนไลน์โดยได้มีการนำเสนอข้อเท็จจริง ว่าด้วยเรื่องบทบาทของสำคัญของการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชนในการทำหน้าที่ช่วยเหลือ และการทำงานสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมในแบบที่รัฐราชการอาจทำไม่ได้ 

  

นายชูศักดิ์  จันทยานนท์  เครือข่ายคนพิการสื่อสารในที่ประชุมว่า ปัจจุบันมีองค์กรด้านคนพิการกว่า 800 องค์กร แทนที่รัฐจะออกมากฎหมาย ออกนโยบามาสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ กลับคิดออกกฎหมายมาบั่นทอน การที่ผู้มีอำนาจเห็นชอบมุ่งมั่นจะออกกฎหมายฉบับนี้ เท่ากับการเห็นองค์กรและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเป็นศัตรู ซึ่งหากเป็นแบบนั้น พวกเราพร้อมจะไปหารือกับท่านทันที

   

ธนวดี  ท่าจีน  จากเครือข่ายผู้หญิง กล่าวว่า นโยบายแบบนี้แสดงให้เห็นความขาดวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เพราะทั่วโลกเขาส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน ไม่ใช่มาจำกัด ควบคุม และทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน กฎหมายนี้ละเมิดอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้งกติกาสากลว่าด้วยเรื่องการมีส่วนร่วมของสตรีต่อการพัฒนา ในฐานะเครือข่ายผู้หญิงในทุกมิติของสังคม พร้อมจะรวมกันเพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้อย่างแน่นอน”

  

นาดา ไชยจิตต์  กล่าวว่า บทลงโทษที่รุนแรงในกฎหมายนี้เป็นโทษที่รุนแรง ราวกับองค์กรหรือการรวมกลุ่มของประชาชนคืออาชญากรรม นี่ไม่ใช่การกำราบ แต่หมายถึงถอนรากถอนโคนการรวมกลุ่มของประชาชน และปราบปรามกลุ่มองค์กรด้านสังคม

  

นุชนารถ  แท่นทอง  ผู้แทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า แทนที่ผู้เกี่ยวข้องจะเอาเวลาเหล่านี้ไปตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐที่ล้มเหลว ทุจริต และไม่สามารถตรวจสอบได้ กลับมาคิดแต่เรื่องการควบคุมตรวจสอบแบบไม่คิดจะให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก สั่งซ้ายหันต้องขวาหัน เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ 

ทั้งนี้ ภายหลังจากผู้แทนองค์กรด้านต่างๆ ได้ร่วมเสนอเหตุผลและความจำเป็น ในการคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จึงได้มีแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการดำเนินการของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดำเนินการโดยขัดรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม จากนั้น19 เครือข่ายภาคประชาชนได้ประกาศข้อเรียกร้องร่วมกันโดยไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัติการว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรฯ ฉบับนี้ และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวให้ถึงที่สุด เพื่อให้เกิดการยกเลิกร่างกฎหมายในทุกขั้นตอน โดยผู้แทนในการประกาศแถลงการณ์บอกถึงเหตุผลสำคัญ 5 ประการในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ว่า  “ร่างกฎหมายนี้เป็นการควบคุมและกีดกันการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะ เพื่อความมุ่งหมายการรวมศูนย์อำนาจในการปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งกฎหมายนี้มาจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการในการจัดทำกฎหมาย  คือก่อนการตรากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน”

  

ทั้งนี้ ภายหลังจากจัดกิจกรรม ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ได้มีการนัดหมายเพื่อไปยื่นแถลงการณ์ต่อประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ณ  อาคารรัฐสภา ต่อไป

  

สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามแถลงการณ์คัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....  “เมื่อกฤษฎีกาเปลี่ยนเสื้อคลุมใหม่ในร่างกฎหมายเดิม” ได้ที่ shorturl.at/hlEHT

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages