ม.นเรศวรจับมือมูลนิธิโครงการหลวง วิจัยพัฒนาสายพันธ์ุ "สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89" - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 29 December 2021

ม.นเรศวรจับมือมูลนิธิโครงการหลวง วิจัยพัฒนาสายพันธ์ุ "สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89"

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์  สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563 ภายใต้โครงการวิจัย “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” (โดยเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี พ.ศ.2557-2561) 

โดยปีพ.ศ. 2557 ได้ดำเนินการผสมพันธุ์ระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ โดยเป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรนำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล เมื่อปี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ผลมีลักษณะรูปทรงกรวยปลายตัด ขนาดใหญ่ ผิวผลหนา มีสีแดงอมส้ม ผิวทึบแสง เนื้อในกลวง มีความแน่นเนื้อสูง มีรสเปรี้ยวอมหวาน กรอบ น้ำน้อย เส้นใยมาก และมีกลิ่นหอม ไม่นิยมรับประทานสด ช้ำยาก ทนทานต่อการขนส่ง เหมาะสำหรับการแปรรูป 

และสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ โดยเป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์โดยมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเด่น คือ ลักษณะผลเป็นทรงกรวยถึงทรงกลมปลายแหลม ขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผลเฉลี่ย 15 กรัมต่อผล ผิวผลมีสีแดงสด เนื้อในเต็ม มีความแน่นเนื้อปานกลาง มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน มีความหวานเฉลี่ย 10-13 องศาบริกซ์ (º Brix) เหมาะสำหรับใช้รับประทานสด 

หลังจากทำการผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีทั้งสองสายพันธุ์แล้ว จึงนำเมล็ดลูกผสมดังกล่าวมาเพาะ โดยมีจำนวนเมล็ดที่เพาะทั้งสิ้น 300 เมล็ด ต่อมาใน ปีพ.ศ. 2560 ได้ทำการปลูกต้นสตรอว์เบอร์รีลูกผสมเหล่านั้น และทำการคัดเลือกลูกผสมดังกล่าว 


โดยคัดเลือกจากต้นที่มีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ผลมีลักษณะแดงเข้ม ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ มีความแน่นเนื้อสูง มีกลิ่นหอม และมีศักยภาพในการสร้างสารแอนโทไซยานินสูง ได้จำนวน ทั้งหมด 2 ต้น และได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นดังกล่าว โดยใช้ส่วนของไหล ได้จำนวนทิ้งสิ้น 500 ต้น จากนั้น 


ในปีพ.ศ. 2561-2563 จึงทำการคัดเลือกและทดสอบพันธุ์ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จนได้พันธุ์ที่มีความคงที่ และมีลักษณะผลสีส้มแดงถึงแดงเข้ม น้ำหนักผลเฉลี่ย 20.60 กรัม ความแน่นเนื้อเฉลี่ย 4.22 นิวตัน ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ มีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง (สารแอนโทไซยานิน) รวมเฉลี่ย 40.83  มิลลิกรัม/100 กรัม น้ำหนักสด ซึ่งสูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ดังนั้นจึงเหมาะแก่การนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89"

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ 

ชนิด/ประเภท ชื่อไทย สตรอว์เบอร์รี ชื่อวิทยาศาสตร์ Fragaria × ananassa (Duchesne ex Weston) Duchesne ex Rozier จัดเป็นไม้ล้มลุก


ราก  รากหลักมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 20 - 30 ราก และมีรากแขนงเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก สำหรับรากปฐมภูมิจะเจริญจากส่วนของลำต้น โดยมีความยาวหลายนิ้ว และเนื้อเยื่อตรงกลางรากจะมีลักษณะสีขาว


ลำต้น  ความสูงทรงพุ่มเฉลี่ย 10.30 เซนติเมตร ความกว้างทรงพุ่มเฉลี่ย 18.40 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกแขนง ส่วนนอกถูกปกคลุมโดยการซ้อนกันของหูใบ 


ใบ  จัดเป็นใบประกอบ มี 3 ใบย่อย รูปรี โดยมีความกว้างเฉลี่ย 3.04 เซนติเมตร และยาวเฉลี่ย 4.20 เซนติเมตร พื้นที่ใบเฉลี่ย 466.65 ตารางเซนติเมตร ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียวเข้ม ก้านใบหนา ซึ่งก้านใบมีความยาวเฉลี่ย 4.10 เซนติเมตร


ดอก  จัดเป็นดอกเดี่ยว ดอกเกือบทั้งหมดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ จำนวนดอกเฉลี่ย 13 ดอกต่อต้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอกมีขนาด 2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีขนาดใหญ่เฉลี่ยจำนวน 12 - 14 อัน โดยมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม กลีบดอกมีจำนวนเฉลี่ย 5 - 8 กลีบ มีสีขาว และเกสรเพศเมียอยู่ตำแหน่งตรงกลางดอกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ช่อดอกมีความยาวเฉลี่ย 9.05 เซนติเมตร สั้น ไม่โผล่พ้นทรงพุ่ม


ผล  จัดเป็นผลรวม ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย ถึงรูปทรงกลมปลายแหลม โดยผลมีความกว้างเฉลี่ย 3.05 เซนติเมตร และยาวเฉลี่ย 4.00 เซนติเมตร ผลมีส้มแดงถึงสีแดงเข้ม เนื้อผลสีแดงสลับขาว น้ำหนักเฉลี่ย 20.60 กรัมต่อผล

ลักษณะอื่น ๆ  

1. มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น สารแอนโทไซยานิน โดยพบว่าปริมาณสารแอนโทไซยานินทั้งหมดเฉลี่ยเท่ากับ 40.83 มิลลิกรัมต่อ100 กรัมน้ำหนักสด ปริมาณไซยานิดิน 3-กลูโคไซด์เฉลี่ยเท่ากับ 20.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักสด และปริมาณเพลาโกนิดิน 3-กลูโคไซด์เฉลี่ยเท่ากับ 484.26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักสด ซึ่งปริมาณแอนโทไซยานินเหล่านี้สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า


2. ระยะเวลาดอกแรกบานเฉลี่ยเท่ากับ 61 วัน หลังย้ายปลูก

3. ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ และมีปริมาณวิตามินซีสูงถึง 205.75 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักสด ความแน่นเนื้อเฉลี่ย 4.22 นิวตัน มีกลิ่นหอม และทนทานต่อการขนส่ง

ข้อมูลโดย ผศ ดร พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภายใต้ทุนวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) มหาวิทยาลัยนเรศวรและมูลนิธิโครงการหลวงโดยมีนิสิตปริญญาเอก อาจารย์มงคล ศิริจันทร์











No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages