เอนก เร่งเครื่อง BCG พลิกฟื้นทุ่งกุลาร้องไห้ด้วย วทน. - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Thursday, 27 January 2022

เอนก เร่งเครื่อง BCG พลิกฟื้นทุ่งกุลาร้องไห้ด้วย วทน.

วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทัพหน่วยงานในสังกัด อาทิ สวทช. วว. สสน. หน่วยให้ทุน บพท. และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จับมือกับ กระทรวงมหาดไทยและภาคี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ดำเนินงานมุ่งเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG 
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อน “โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ได้ร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ZOOM MEETING เพื่อมอบนโยบายและแนวคิดการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 
โดยมี ดร.ณรงค์  ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ นำเสนอโครงการเร่งด่วน หรือ Quick Win project ต่อผู้บริหารจังหวัดและมหาวิทยาลัยในพื้นที่จากทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายชัยวัฒน์ แสงศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร และนายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ โดยการประชุมออนไลน์ในแต่ละจังหวัดมีหัวหน้าส่วนราชการ , ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมรับทราบนโยบาย 

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบนโยบายให้เร่งแก้จนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งเป้าการขับเคลื่อนงานให้สำเร็จภายใน 1 – 2 ปี เช่น เน้นการทำเกษตรปลอดภัย เกษตรประณีต เกษตรมูลค่าสูง เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การสร้างแบรนด์ (Branding) ของทุ่งกุลาเปลี่ยนจากความยากจนเป็นรุ่งเรือง สร้างสรรค์ ผลิตสินค้าแบรนด์ทุ่งกุลาให้คนในพื้นที่ทุ่งกุลามีความภูมิใจในการเป็นคนทุ่งกุลา สร้างผู้นำ BCG สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทรหด อดทน มุมานะ รู้จักรับและปรับใช้เทคโนโลยี สามารถพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ที่มีรายได้น้อย อย่างน้อยร้อยละ 50 ในพื้นที่ให้มีรายได้ก้าวพ้นเส้นความยากจน (มากกว่า 38,000 บาทต่อคนต่อปี) และยกระดับเกษตรกรต้นแบบอย่างน้อยร้อยละ 10 ของเกษตรกรในพื้นที่ และด้านประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพมาตรฐาน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 ตามแนวทางการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการใช้ฐานทรัพยากรที่โดดเด่นและหลากหลาย และยังเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ ยกระดับให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารไทยที่มีคุณภาพครบวงจร  เน้นการทำเกษตรพรีเมียม เกษตรมูลค่าสูง การผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด หรือเป็น zero waste และสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้กลไกตลาดนำการผลิต เน้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ผสานศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น และนวัตกรรม สร้างแบรนด์ทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล  

สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัดได้กำหนดคนจนพื้นที่เป้าหมายใน 7 อำเภอ 26 ตำบล และเกษตรกรต้นแบบใน 10 อำเภอ 39 ตำบล นำร่องโครงการเร่งด่วน (Quick win project) เพื่อการยกระดับสินค้าหลักในพื้นที่ อาทิ ข้าว พืชหลังนา โคเนื้อ ประมง ผักอินทรีย์ พืชสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมูลค่าเพิ่ม โดยคาดหวังผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่การยกระดับรายได้ เกิดอาชีพ การจ้างงานตลอดห่วงโซ่การผลิตในพื้นที่ ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ เกิดแบรนด์สินค้าพรีเมียมไปสู่ตลาดสากล เกิดเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงตลาด เกิดผู้ประกอบการใหม่ในพื้นที่ เกิดตลาดกลางในพื้นที่เชื่อมโยงกับตลาดสากล นอกจากนั้นแล้วที่ประชุมได้รายงานให้ทราบถึงการจัดตั้งคณะทำงานในระดับพื้นที่ คือ คณะทำงานขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 5 จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำเป้าหมายและแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัด ให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย ในระดับนโยบาย และการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของกิจกรรมต่างๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

กระทรวง อว. สวทช. ผนึก 21 พันธมิตรด้านวิเคราะห์ทดสอบชั้นนำของไทยเตรียมความพร้อมก้าวสู่ "ฮับด้านศูนย์ทดสอบ” (Testing Hub) มาตรฐานระดับอาเซียน 
    
วันที่ 21 มกราคม 2565 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP-CC) สวทช. จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) ครั้งที่ 2  เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ผ่านเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) รวม 21 หน่วยงาน โดยมี ผศ.ดร.สยาม ภพลือชัย ประธาน TSEN ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผศ. ดร.ภูวดล บางรักษ์ รองประธาน TSEN ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ ดร.ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ เลขานุการ TSEN ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ สวทช. (NCTC) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้ง 21 หน่วยงานร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้ รวมถึงการแสดงนิทรรศการโชว์ศักยภาพเครื่องมือทดสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย
ดร.ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) ในฐานะเลขานุการ TSEN กล่าวถึง ผลการดำเนินการของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน TSEN 5 ปี ที่ผ่านมา ในระยะแรก 17 หน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ "ฮับด้านศูนย์ทดสอบ” (Testing Hub) ที่มีมาตรฐานระดับอาเซียน โดยการทำงานในรูปแบบเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ TSEN ซึ่งมีวัตถุประสงค์ความร่วมมือเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของศูนย์เครื่องมือภายในประเทศรอบด้าน อันได้แก่ การบริหารจัดการ การดำเนินการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบและบริการวิชาการ การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการ การสร้างฐานข้อมูลเครื่องมือวิทยาศาสตร์ การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ การพัฒนาบุคลากร การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สร้างความเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้ประโยชน์ของเครื่องมือและการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงาน ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ (1) กลุ่มวิจัยเชิงพาณิชย์ (2) กลุ่มพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการ และวิธีวิเคราะห์ (3) กลุ่มบริหารจัดการความรู้การจัดหาครุภัณฑ์ (4) กลุ่มฐานข้อมูลทางด้านความสามารถของห้องปฏิบัติการ (5) กลุ่มซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์และกลุ่มส่งเสริมกิจกรรมเครือข่ายและพัฒนาบุคลากร และ (6) กลุ่มความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ รวมถึงมีการจัดทำฐานข้อมูลที่สำคัญทางด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์ร่วมกันของหน่วยงานเครือข่าย TSEN ที่เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ผ่าน www.tsen.in.th นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสให้สมาชิกของเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ภายในประเทศได้พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานของห้องปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนได้รับทราบความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมของเครื่องมือวิจัยขั้นสูง รวมถึงการให้คำปรึกษารายละเอียดการใช้เครื่องมือวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบภายในประเทศ  
ผอ. ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับ 21พันธมิตรทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย (1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (3) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (4) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (5) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (6) มหาวิทยาลัยทักษิณ  (7) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (8) มหาวิทยาลัยนเรศวร (9) มหาวิทยาลัยบูรพา (10) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (11) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (12) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (13) มหาวิทยาลัยมหิดล (14) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (15) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (16) มหาวิทยาลัยศิลปากร (17) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (18) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (19) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (20) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ (21) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) จากความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินงานแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ในด้านการบริการวิเคราะห์ทดสอบร่วมกันกับหน่วยงานศูนย์เครื่องวิทยาศาสตร์ทุกภูมิภาคของประเทศ จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก ตลอดจนสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการการวิเคราะห์ทดสอบที่มีมาตรฐาน ผ่านห้องปฏิบัติการและศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ภายในประเทศที่ได้รับการยอมรับทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้ศักยภาพการวิเคราะห์ทดสอบในประเทศเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อรองรับการขยายเป็น Testing Hub ระดับอาเซียนในอนาคต


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages