วช. ผนึก ม.หาดใหญ่ พลิกฟื้น “ป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา” เสริมระบบนิเวศ และอาชีพยั่งยืน - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Thursday, 24 February 2022

วช. ผนึก ม.หาดใหญ่ พลิกฟื้น “ป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา” เสริมระบบนิเวศ และอาชีพยั่งยืน

 


วันนี้ (24 ก.พ. 2565) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ดูผลสำเร็จโครงการ “การจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ” ของนักวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ช่วยชุมชนดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ โดยพึ่งพิงธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีขนาดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 8,729 ตร.กม. โดยแบ่งเป็นทะเลสาบ พื้นที่ 1,042 ตร.กม. ถือเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีระบบนิเวศลักษณะเฉพาะตัวแบบ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่เนื่องจากการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกในปัจจุบัน ทะเลสาบสงขลาจึงถูกคุกคามอย่างรุนแรง มีการใช้ประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน
นักวิจัยและหน่วยงานในพื้นที่ จึงได้นำนโยบายและยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ มาต่อยอดปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ลงพื้นที่ทำข้อตกลง MOU ระหว่างเทศบาลตำบลชะแล้ และ ม.หาดใหญ่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย เช่น กลุ่มชุมชนรักษ์ชะแล้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (เกาะยอ) โรงเรียนวัดชะแล้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรม สร้างการรับรู้และตระหนักในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง สู่การลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้แนวคิด “บางเหรียงโมเดล” ผ่านการปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสานซึ่งแต่เดิม พื้นที่ตำบลชะแล้ส่วนหนึ่งไม่สามารถปลูกพืชใด ๆ ได้ เนื่องจากเป็นป่าพรุ ดินจึงมีลักษณะเปรี้ยว นักวิจัยจึงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสาน โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้แต่ละชนิดที่เหมาะสมกับสถานที่ เตรียมกล้าไม้เพื่อเพาะชำอย่างเหมาะสม ลงปลูกอย่างถูกวิธี และดูแลบำรุงรักษา โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน เช่น การทำไม้ไผ่กันลม การรณรงค์ร่วมกันเก็บเศษขยะทิ้งออกจากพื้นเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งอบรมให้ชุมชนกำจัดหนอน หอยหรือสัตว์ที่ทำลายพันธุ์กล้าป่าชายเลน อนาคตยังมองแนวทางที่จะพัฒนาให้ป่าชายเลนริมทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้วิถี “โนด นา ป่า เล” และเป็นแหล่งเพาะลูกกุ้ง ลูกปลาที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย
“พันธุ์กล้าไม้ที่ทีมวิจัยและชุมชนร่วมกันปลูกในโครงการนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ได้แก่ ต้นจิก ตีนเป็ดทะเล จาก หยีน้ำ สารภีทะเล เสม็ดขาว และโกงกางใบเล็ก จำนวน 3,650 ต้น ซึ่งต้องดูผลลัพธ์ต่อไปอีก 4-5 ปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเกิดผลพวงจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากขึ้นแล้ว อาทิ ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากกว่าแต่ก่อน ต้นเสม็ดที่ปลูกมาแล้ว 2-3 ปี ออกดอกให้เกสรเป็นอาหารชั้นดีแก่ผึ้งชันโรง ซึ่งชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยมีแนวโน้มจะเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้จำนวนมากได้ เกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 3 กลุ่ม การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนวัยใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้เกิดการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนชะแล้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ผู้สนใจ และสามารถส่งต่อเป็นโครงการให้แผนพัฒนาตำบลต่อไปได้ โดยกลุ่มคนในท้องถิ่น และทีมวิจัยยังคงร่วมกันปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาคีชุมชนที่เข็มแข็งขึ้น ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความหวงแหนและพึ่งพิงธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.นุกูล กล่าว


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages