กระทรวง อว. ปลื้ม นักวิทย์ฯ-ทีมเยาวชนไทย กวาด 10 รางวัลเวทีโลก โครงงานวิทย์ฯ ‘ISEF2022’ จากสหรัฐอเมริกา - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Thursday, 19 May 2022

กระทรวง อว. ปลื้ม นักวิทย์ฯ-ทีมเยาวชนไทย กวาด 10 รางวัลเวทีโลก โครงงานวิทย์ฯ ‘ISEF2022’ จากสหรัฐอเมริกา

 

ดังกระหึ่มเวทีโลก ความสำเร็จเยาวชนไทยคว้า 10 รางวัล โครงงานวิทย์ฯ ระดับโลกกวาดเงิน รางวัลรวม 66,000 เหรียญสหรัฐ ตอกย้ำความสำเร็จการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวง อว. เผย 2 ใน 10 คว้ารางวัลสุดปัง โดย 1 รางวัล Grand Awards เป็นรางวัลสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป และอีก 1 รางวัล


รางวัลสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป และอีก 1 รางวัลพิเศษ ได้รับจากสมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก 

(18 พฤษภาคม 2565 ) เวลา 10.00 น. ที่ สวทช. อาคารโยธี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. รศ. ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นางสาวอารยา  ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยตัวแทนนักวิทยาศาสตร์และเยาวชนไทย ร่วมแถลงข่าว “ความสำเร็จนักวิทยาศาสตร์ทีมเยาวชนประเทศไทย กวาด 10 รางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ” Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) 2022 ซึ่งเยาวชนไทยกวาดรางวัลระดับโลกมาถึง 10 รางวัล มูลค่ารวม 66,000 เหรียญสหรัฐ จากการแข่งขันในรายการ Regeneron ISEF 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยปีนี้มีโครงงานเข้าร่วมประกวด 1,410 ผลงานจากนักเรียน 1,750 คน จาก 63 ประเทศและมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา 


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจและเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ผ่านการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition, YSC) ที่ สวทช. สนับสนุนตั้งแต่ปี 2542 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการฯ จัดประกวดโครงงานในสาขาวิชาต่างๆ ทั่วประเทศรวม 9 สาขา ให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 6 ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในครั้งล่าสุดโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ หรือ  YSC ครั้งที่ 24 มีจำนวนข้อเสนอโครงงาน 1,269 โครงงาน นักเรียน 3,094 คน จาก 160 โรงเรียน และผ่านการเฟ้นหาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในส่วนภูมิภาค จนได้ผลงานรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคและผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 67 โครงงาน นักเรียน 164 คน จาก 47 โรงเรียน


“ในปีนี้ สวทช. และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คัดเลือก 16 ทีม 35 คน จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 (Young Scientist Competition, YSC 2022) ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และจากค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thai Young Scientist Festival, TYSF 2022) ดำเนินการโดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ร่วมกันส่งคณะเยาวชนไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ หรือ Regeneron ISEF 2022 ซึ่งถือเป็นเวทีที่มีความสำคัญด้านการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก เพื่อส่งเสริมความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีการจัดแข่งขันต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาถึง 72 ครั้ง 


ผลปรากฏว่าทีมเยาวชนไทยคว้ารางวัลใหญ่ คือ Grand Awards อันดับ 1 สาขาเวชศาสตร์ปริวรรต (Translational Medical Science) จากโครงงาน “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI” (BiDEx - A Bile Duct Cancer Analyzing Tool) จากทีม BiDEx จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ผู้พัฒนา นางสาวนภัสสร หลิดชิววงศ์ นายกฤษ ฐิติจำเริญพร และนายวัฒนพงษ์ อุทธโยธา โดยมี นายกัมพล กันทะแก้ว และ นางรุ่งกานต์ วังบุญ อาจารย์ที่ปรึกษา อีกทั้งยังได้รับรางวัลสำคัญอีก 1 รางวัลที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านบาท (The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000) โดยผลงานดังกล่าวเป็นผลงานที่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศจากค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 17 ประจำปี 2564”


ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีรางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 อีกหนึ่งผลงาน ใน  สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ (Computational Biology and Bioinformatics) ได้แก่ โครงงาน “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” ผู้พัฒนาได้แก่ นายภาวิต แก้วนุรัชดาสร นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นายวุฒิพงศ์ จงเจริญสันติ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ซึ่งมี ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และนายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ จากสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 


และยังมีทีมเยาวชนไทยคว้ารางวัล Grand Awards อันดับต่างๆ อีก 5 รางวัล ประกอบด้วย อันดับที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (Earth and Environmental Sciences) จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อันดับที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ โครงงานการเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง ผู้พัฒนาได้แก่ นางสาวจรัสณัฐ วงษ์กำปั่น และนางสาวมาริสา อรรจนานนท์ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อันดับที่ 4 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 


1. โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP) สาขาชีวการแพทย์และสุขภาพ (Biomedical and Health Sciences) ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ นักวิจัยไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 

2. โครงงานการแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) ผู้พัฒนาได้แก่ นายวิชยุตม์ นาคะศูนย์ จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช โดยมี นางซัลวาณีย์ เจ๊ะมะหมัด จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ และ รศ. ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

และ 3. โครงงานการพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา” สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) ผู้พัฒนาได้แก่ นายพีรทัตต์ ลาภณรงค์ชัย และ นายธนพัฒน์ รีชีวะ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ดร.ธิติกร บุญคุ้ม นักวิจัยนาโนเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 


‘จิกทะเล’ ซิวสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากสมาคมวิทย์ฯ เก่าแก่ที่สุดในโลก

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ (Special Award)  2 รางวัลประกอบด้วย โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP) ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง โดยมี ดุร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ จากไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โครงงานดังกล่าวได้รับรางวัลที่ 1 สาขาการพัฒนาสุขภาพระดับโลก จาก USAID หรือ องค์การพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

และ โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล” ได้รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society สมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเป็นผลงานการวิจัยที่มีการบูรณาการวิทยาการจากหลากหลายสาขายอดเยี่ยม  

AI นับไข่พยาธิใบไม้ในตับ เพิ่มโอกาสพบมะเร็งระยะแรก

ด้าน รศ. ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการเครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีจากการหาตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ในตับด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (BiDEx - A Bile Duct Cancer Analyzing Tool) ซึ่งได้รางวัลใหญ่ 1 รางวัลมอบให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป จากทีม BiDEx เยาวชนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่นั้น ผลงานดังกล่าวใช้เว็บแอปพลิเคชัน BiDEx และเทคโนโลยี AI ในการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับแทนการใช้สายตามนุษย์ในภาพถ่ายอุจจาระจากกล้องจุลทรรศน์ และวิเคราะห์ความเสี่ยงการมีพยาธิใบไม้ตับซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ทำให้สามารถรู้ผลการตรวจได้เร็วขึ้น 83.33% ช่วยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิเข้ารับการรักษาในระบบได้รวดเร็วและทันเวลา นำไปสู่การป้องกันและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี


“ทั้งนี้ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทั้ง 16 ทีม ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการแข่งขันโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลกในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในการแข่งขันในเวทีระดับโลก และขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทุกทีมที่ได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ หวังว่าเยาวชนทุกคนจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการประกวดในครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าโครงงานที่เยาวชนได้พัฒนาขึ้นจะถูกต่อยอดและถูกนำมาใช้งานจริงเพื่อพัฒนาประเทศของเราต่อไปในอนาคต ซึ่งการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชนระดับโลก Regeneron ISEF 2022 ถือเป็นเวทีการประกวดโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก การผนึกกำลังของสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวง อว. โดย สวทช. วช. และ อพวช. และภาคเอกชนโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ร่วมกันสนับสนุนผลงานของเด็กไทยให้ออกไปสู่สายตาระดับโลก และยังสามารถได้รับรางวัลมากกว่า 10 รางวัลในครั้งนี้นั้น ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในสังคมไทย”

นักวิทย์ฯ-เยาวชนไทย กวาด10 รางวัล รวมมูลค่า 66,000 เหรียญสหรัฐ

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า สำหรับ โครงงาน “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ ซึ่งได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ นั้น ผลงานดังกล่าว ใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” เป็นโมเดลการเรียนรู้เชิงลึก CANDraGAT ซึ่งเป็นโมเดลสำหรับทำนายค่าการตอบสนองต่อยารักษาโรคมะเร็ง โดยอาศัยข้อมูลโครงสร้างยาและข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้แม่นยำมากขึ้น


“ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคน ซึ่งรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว ยังภาคภูมิใจในการได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและมีคุณค่าสำหรับน้องๆ เยาวชน โดยหวังว่าทุกผลงานจะนำไปต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต” 

นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและกำลังคนด้านการประดิษฐ์คิดค้น วิจัยและนวัตกรรม รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสให้กับเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนทุนในการพัฒนาผลงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. จนประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับน า น า ช า ต ิ Regeneron ISEF 2022 ซึ่งถือเป็นเวทีระดับนานาชาติสำหรับนักประดิษฐ์ไทยรุ่นใหม่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายที่จะได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ฝึกฝนทักษะ ให้มีความพร้อมกับการเป็นนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพเพื่อเติบโตเป็นนวัตกรที่สำคัญของประเทศต่อไป


“ขอแสดงความชื่นชมกับความตั้งใจของน้องๆ เยาวชน และขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลในวันนี้หวังว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจและเป็นกำลังใจที่ดีให้กับเยาวชนทุกคน ที่จะเป็นฐานกำลังปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต และขอขอบคุณผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนในการเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ Regeneron ISEF 2022 ให้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”

นางสาวอารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีความยินดีให้การสนับสนุนเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักทางด้านกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคารฯ มาอย่างต่อเนื่อง เป็นการบ่มเพาะ พัฒนาเยาวชนให้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาทักษะและสมรรถนะ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอยาคตอย่างยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไปในอนาคต


“ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนเยาวชน คณาจารย์ และคณะทำงานทุกท่านที่ประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับนานาชาติ Regeneron ISEF 2022 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และประสบการณ์จากการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ทำให้น้องๆ ได้พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของตนเอง ในการสร้างสร้างสรรค์ผลงานหรือประกอบวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ และเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป”


อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สวทช. สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ อพวช. วช. และภาคเอกชนโดยธนาคารไทยพาณิชย์ นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เมื่อรวมผลงานคณะเยาวชนไทยที่กวาดรางวัลจากการแข่งขันในรายการ Regeneron ISEF 2022 จำนวนทั้งสิ้น 10 รางวัล รวมมูลค่าทั้งสิ้น 66,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,300,000 บาท











No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages