เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) กล่าวว่า จากวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ และที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ ทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าลำพังรัฐบาลและกลไกของรัฐ ไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่สลับซับซ้อนได้ แต่ความร่วมมือของ องค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงการรวมกลุ่มของประชาชนมีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนการทำงาน และช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ อย่างเช่นวิกฤตทางธรรมชาติ โรคระบาด แสดงให้เห็นแล้วว่าการที่องค์กรภาคประชาสังคม การรวมกลุ่มของประชาชนเข้ามาร่วมมือนั้น ช่วยทำให้ประเทศพ้นวิกฤตไปได้ สร้างความเข็มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชนให้มีความเข็มแข็งมากขึ้น
นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรไม่แสวงหากำไร ให้สามารถดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีธรรมาภิบาล แต่เนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมุ่งควบคุมกำกับการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร เปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาสอดส่องและแทรกแซงการทำงาน ทำให้องค์กรขาดความเป็นอิสระ จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก มีการออกข้อห้าม ข้อจำกัดดำเนินงานที่มีขอบเขตเนื้อหาที่กว้างขวาง ให้สิทธิเจ้าหน้าที่ในการตีความที่กว้างเกินไป รวมทั้งมีอำนาจสั่งปิดองค์กร และกำหนดบทลงโทษรุนแรงเกินจำเป็น ซึ่งครอบคลุมถึงการรวมกลุ่มของประชาชนในหลายรูปแบบด้วย โดยสรุปคือกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่ม แต่ต้องการกำกับควบคุมและจ้องทำลาย เล่นงานองค์กรที่รัฐบาลไม่พอใจ
ดังนั้น ขสช. เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และภาคีเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน จึงขอแสดงจุดยืน เรียกร้องต่อรัฐบาล และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.เครือข่ายขอให้กำลังใจการชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรฯ และพร้อมเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันในการเรียกร้องให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกการผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยด่วน
2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่ องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดพื้นที่แก่ประชาชนในการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ เพื่อแสดงจุดยืนและความคิดเห็นตามสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงกระทำได้ พร้อมทั้งดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยกับผู้ชุมนุม
3. รัฐบาลต้องไม่สร้างเงื่อนไขอันนำไปสู่การจับกุมแกนนำ ประชาชนทุกคนที่เข้าร่วมการชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพอันพึงมี ตลอดจนการสร้างเงื่อนไขเพื่อการสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธและความรุนแรงโดยเด็ดขาด และ
4. ขอเชิญชวนประชาชน ภาคีองค์กรต่าง ๆ มาร่วมกันแสดงออก เพื่อให้รัฐบาลมีมิติ ครม.ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล และขอให้ร่วมกันติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
No comments:
Post a Comment