สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนงานวิจัยแก้ปัญหาภัยแล้งต้านภัยธรรมชาติ จากผลงานโครงการวิจัย เรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร”
โดยในวันนี้ (วันที่ 10 พฤษภาคม 2565) วช. ได้ลงพื้นที่ชุมชนตำบลถ้ำสิงห์ เพื่อฟังบรรยาย สรุปโครงการวิจัย เรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร” พร้อมเยี่ยมชมโครงการวิจัยธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.พระครูวินัยธร วรรณไชย สิริวณฺโณ มูลนิธิหลวงปู่สงฆ์จันทสโรเพื่อการวิจัย หัวหน้าโครงการ ดร.พรนค์พิเชฐ แห่งหน นักวิจัย นายนิคม ศิลปะศร ประธานกลุ่มธนาคารน้ำใต้ดินตำบลถ้ำสิงห์ และนายโภคิน เกิดศรี ตัวแทนชาวบ้านชุมชนตำบลถ้ำสิงห์ ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน ตำบลถ้ำสิงห์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่มีความทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดผลความต้องการในการใช้น้ำกลับสวนทางกับปัจจุบันที่เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง อาจด้วยเพราะวิถีโลกวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ และสรรพชีวิต ไม่ว่าจะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคการประกอบอาชีพทั้งการเกษตรอุตสาหกรรมหรือการบริโภคเพื่อดำรงชีวิต เมื่อน้ำเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการดำรงชีวิตทำให้ความจำเป็นและความต้องการน้ำนั้นมากขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกฤดูแล้งหลายพื้นที่และนำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องการแย่งชิงน้ำ ดังนั้น วช. จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาและพร้อมให้ความสนับสนุนการดำเนินงานให้กับทีมนักวิจัยมูลนิธิหลวงปู่สงฆ์จันทสโร ในการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารการจัดการน้ำ โครงการ “ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร” จึงมีส่วนช่วยในการนำความรู้ทางด้านวิชาการมาประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ทางสังคมที่ดีขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา ปาก ท้อง ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนเป็นงานวิจัยที่ท้าทายปัญหาสังคม นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถบริหารการจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.พระครูวินัยธร วรรณไชย สิริวณฺโณ มูลนิธิหลวงปู่สงฆ์จันทสโร เพื่อการวิจัย เปิดเผยว่า บริเวณพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงส่วนมากเป็นพื้นที่ภูเขา มีสภาพดินเป็นดินเหนียวสีแดง เหมาะสมที่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรและการใช้ประโยชน์ ในที่ดินโดยทั่วไป จึงมีการทำสวนกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น สวนทุเรียน, เงาะ , ลองกอง, กาแฟ , ปาล์มน้ำมัน และยางพาราเป็นต้น โดยเฉพาะสวนผลไม้ไม้ผลที่มีชื่อเสียงของชาวตำบลถ้ำสิงห์และขึ้นชื่อระดับประเทศ คือ ทุเรียน สวนทุเรียนต้องใช้น้ำเยอะแต่แหล่งน้ำมีจำนวนจำกัดในช่วงแล้งมีปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี จึงนำมาสู่การแก้ไขปัญหาการบริหารการจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อช่วยลดปัญหาให้กับชุมชนในฤดูกาลเพาะปลูก ธนาคารน้ำใต้ดิน จึงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาการนำน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดินเพื่อกักเก็บไว้ เสมือนเป็นการฝากน้ำเอาไว้กับดิน แล้วค่อยนำเอากลับมาใช้ (ถอน) เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้น้ำ เปรียบเสมือนกับการฝากเงินไว้กับธนาคารวันใดที่ต้องการใช้เงินก็สามารถถอนเงินที่เก็บออมไว้ออกมาใช้ได้
ดร.พรนค์พิเชฐ แห่งหน นักวิจัย กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนที่มวลน้ำมีจำนวนมากแทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปตามธรรมชาติ โครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการกักเก็บน้ำไว้กับดินเหมือนกับการฝากน้ำไว้กับดิน เป็นไปตามหลักการของ “ศาสตร์พระราชาการเติมน้ำใต้ดิน” ธนาคารน้ำจึงเป็นแก้มลิงที่มองไม่เห็น โดยหลักการการทำงานของ นวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ 1.) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เป็นการเติมน้ำลงในแอ่งน้ำโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำ บ่อขุด หรือแอ่งน้ำธรรมชาติ โดยทำการดัดแปลงแอ่งน้ำเล็กน้อยด้วยการขุดทำสะดือให้กับแอ่งน้ำ 3 จุด คือ บริเวณหัว ท้าย และตรงกลางแอ่งน้ำ โดยขุดให้พ้นชั้นดินเหนียวก็จะถึงชั้นหินอุ้มน้ำประมาณ 7-12 เมตร เปิดขอบแอ่งน้ำให้เส้นทางน้ำสามารถไหลลงมาเติมได้ทุกทิศทาง ซึ่งไม่ว่ามวลน้ำจะมีปริมาณมากเท่าใดก็จะไม่ล้นขอบบ่อ น้ำจะถูกนำไปกระจายเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำในบริเวณกว้าง และเมื่อถึงช่วงหน้าแล้ง น้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำจะเอ่อล้นออกมาชดเชยปริมาณน้ำในแอ่งน้ำที่แห้งลงไป ทำให้มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปีสำหรับใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพวิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากสามารถสูบน้ำจากบ่อมาใช้ได้โดยไม่หมด เมื่อปริมาณน้ำลดลง น้ำจากใต้ดินก็จะซึมซับกลับเข้ามาเติมเต็มปริมาณน้ำในบ่อให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็ม 2.) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเติมน้ำลงใต้ดินในลักษณะของบ่อซับน้ำ โดยการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลมขนาด กว้าง x ยาว x ลึก ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ แล้วขุดสะดือหลุมให้ลึกลงไปอีกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างและยาวตามความเหมาะสม เพื่อใช้สำหรับตั้งท่อพีวีซี ขนาด 1.5–2 นิ้ว ให้อากาศที่ก้นบ่อสามารถระบายขึ้นมาได้ จากนั้นใส่หินเขื่อนขนาดใหญ่ที่ชั้นล่างสุด แล้วใส่หินเขื่อนขนาดกลางหรือเศษวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เศษอิฐ เศษกระเบื้อง ขวดแก้ว ในชั้นตรงกลาง จากนั้นใส่หินเขื่อนขนาดเล็กเอาไว้ชั้นบน ปลายท่อด้านบนควรใส่ท่อขวางไว้เพื่อป้องกันเศษวัสดุต่าง ๆ ตกลงไปอุดตัน หินเขื่อน เป็นหินก้อนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 3–15 นิ้ว ใช้สำหรับก่อสร้างในงานชลประทาน และงานที่ต้องใช้หินก้อนขนาดใหญ่อื่น ๆ
นายนิคม ศิลปะศร ประธานกลุ่มธนาคารน้ำใต้ดินตำบลถ้ำสิงห์ กล่าวว่า ธนาคารน้ำใต้ดิน ของ อบต.ถ้ำสิงห์ การรวมกลุ่มกันระดมความคิดกับชาวบ้านในชุมชน เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำการนำน้ำไปฝากไว้ใต้ดินพบว่าช่วยลดปริมาณน้ำท่วมช่วยเหลือชุมนุมใต้น้ำทำให้มีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อการเกษตร ทุเรียนพืชเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดินพื้นที่ตำบลถ้ำสิงห์เป็นแบบระบบปิดมีการออกแบบบ่ออย่างเหมาะสมตามระบบบริหารจัดการน้ำที่จะช่วยเสริมให้น้ำในบ่อหรือสระมีเพียงพอตลอดทั้งปีสร้างสมดุลทางธรรมชาติ ในการนี้นายโภคิน เกิดศรีชาวบ้านชุมชนตำบลถ้ำสิงห์ได้รวมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่จะเป็นต้นแบบเผยแพร่แก่ชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง บำบัดน้ำเสีย ส่งเสริมการอนุรักษ์ดิน ต้นน้ำลำธารเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพแก่สังคมของพืชและสัตว์ ตลอดจนนำความชุ่มชื้นมาสู่พื้นดินสมดังคำว่า “น้ำคือชีวิต” ตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่นคง “รู้รักษาคุณค่าน้ำ ฝากน้ำไว้กับดินต้านภัยธรรมชาติ”
No comments:
Post a Comment