จากการแก้ปัญหาโควิด-19 วงการแพทย์และสุขภาพของไทยมีความตื่นตัวและแข็งแกร่ง จนได้รับความชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจะนำไปเป็นต้นแบบการเรียนรู้ในระดับสากล แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ บริการทางการแพทย์และสุขภาพของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพสู่การเป็น “เมดิคัลฮับ” ได้อย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวะมหิดล และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พัฒนาโครงการ “ต้นแบบการจัดตั้งคลังกลางระหว่างโรงพยาบาลสำหรับยาและเวชภัณฑ์ (Centralized Warehouse Logistics)” เพื่อพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและดิสรัพชั่น คาดว่าใช้เวลา 6 เดือน ในการสรุปผลพัฒนาวิจัยและขับเคลื่อนการดำเนินงาน
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การศึกษาวิจัยจัดตั้งคลังกลางระหว่างโรงพยาบาลและระบบโลจิสติกส์สำหรับยาและเวชภัณฑ์ วัตถุประสงค์เพื่อนำไปเป็นต้นแบบคลังกลางของ รพ. ในเครือมหิดล และ รพ.อื่นๆ ในประเทศไทยยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รองรับการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทุกช่วงอายุตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ สนับสนุนโยบายรัฐในการหนุนการก้าวเป็น “เมดิคัลฮับ” ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ และยกระดับความปลอดภัยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Patient Safety) แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีช่องว่างในระบบการบริการด้านสุขภาพ และการจัดการโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ รพ.ศิริราช ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก รพ.รามาธิบดี รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน เป็นต้น และ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในโครงการจัดตั้งคลังกลางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในโรงพยาบาลเครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดล แบบร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Public-Private Partnership) พร้อมตั้งคณะทำงาน โดยมอบหมายให้ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางการสร้างคลังกลางและดำเนินการปฏิบัติการ ในโครงการวิเคราะห์และจัดตั้งแพลตฟอร์มคลังกลางของโรงพยาบาลและระบบโลจิสติกส์สำหรับผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ โดยงานวิจัยพัฒนาจะใช้เวลา 6 เดือน
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ความสำคัญของโครงการวิจัยฯว่า ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ในการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งมาจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การขนส่งสินค้า และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในโรงพยาบาลมีการทำงานที่แยกส่วนกัน ทำให้เกิดการสำรองสินค้าเวชภัณฑ์และยาซ้ำซ้อนและมากเกินความจำเป็น จากค่าเฉลี่ยพบว่าระยะเวลาในการเก็บสินค้า (Inventory Days) ภายในโรงพยาบาลส่วนใหญ่อยู่ที่ 1.5 - 2 เดือน ทำให้ยาหรือสินค้าเวชภัณฑ์บางรายการหมดอายุก่อนการใช้งาน สินค้าบางรายการไม่มีพื้นที่ในการจัดเก็บ บางครั้งเกิดภาวะสินค้าขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และการขนส่งสินค้า บริษัทผู้ขายหลายแห่งส่งของให้โรงพยาบาลหลายที่ ทำให้ต้นทุนของบริษัทผู้ขายและโรงพยาบาลสูงมาก
ทีมวิจัย ศูนย์ LogHealth มุ่งศึกษาและออกแบบคลังสินค้ากลาง 2 ระดับ ได้แก่ 1. คลังกลางภายในโรงพยาบาล และ2. คลังกลางระหว่างโรงพยาบาล เพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ โดยแนวคิดในการออกแบบคลังกลางภายในโรงพยาบาล เป็นการรวมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ทั้งยา / เวชภัณฑ์ หรืออื่นๆ ที่มากกว่า 1 กลุ่มสินค้า ให้อยู่ในคลังเดียวกัน (Central Warehouse) ภายในโรงพยาบาล ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยลดกระบวนการและเวลาในการขนส่งของบริษัทผู้ขาย รวมถึงกิจกรรมในโรงพยาบาลยังสามารถใช้ระบบจัดการสินค้าคงคลัง คลังสินค้าและระบบขนส่ง ในระบบเดียวกันได้ ส่วนแนวคิดในการพัฒนาคลังกลางระหว่างโรงพยาบาล แกนหลักจะคล้ายกัน คือ รวมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลภายในเครือหรือโรงพยาบาลในเขตพื้นที่เดียวกัน (Central Distribution center) แต่ต่างกันตรงที่แนวคิดนี้จะตั้งคลังอยู่ภายนอกเขตพื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่ม
พื้นที่ภายในโรงพยาบาล ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้ เช่น การเพิ่มเตียง เพิ่มห้องตรวจ เป็นต้น และช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ การจัดเก็บสินค้าในภาพรวมได้ ทำให้เกิดประสิทธิภาพการจัดการระบบจัดการสินค้าคงคลัง คลังสินค้าและระบบขนส่ง (Inventory , Warehouse and Transportation) และประสิทธิภาพการจัดการในภาพรวมระบบสาธารณสุขของประเทศ
รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง แนวคิดการจัดตั้งคลังกลางเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพการบริการสู่ระดับสากล สำหรับทิศทางการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์คลังกลาง ยาและเวชภัณฑ์ของ รพ.ศิริราช มุ่งสู่การเป็น Smart Hospital ซึ่งปัจจุบัน รพ.ศิริราช เริ่มนำระบบ Automation มาใช้ในการจ่ายยา โดยนำหุ่นยนต์ (Robot) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชื่อมโยงกับระบบคลังในการตัดสต๊อค และพยากรณ์คำนวณจำนวนยา เพื่อลดการใช้มนุษย์ เนื่องจากต้นทุนไม่แตกต่างจากการดำเนินการโดยมนุษย์ แต่มีความถูกต้องและแม่นยำสูง โดยแพทย์เวรฉุกเฉิน รพ.ศิริราช มีการใช้ Vending Machine ในการเบิกน้ำเกลือ ซึ่งจะมีบันทึกทำให้ทราบว่าใครหยิบอะไร เท่าไหร่ เนื่องจากสามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องสำรองสินค้าในจำนวนที่มากเกินความจำเป็น และเป็นการลดต้นทุนในการสำรองสินค้าคงคลังด้วย
คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป กล่าวถึง ศักยภาพและความท้าทายให้เกิดสตาร์ทอัพด้าน Centralized Warehouse Logistics สำหรับโรงพยาบาลในประเทศไทย ว่า ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีประสบการณ์ในด้านคลังกลาง (Centralized Warehouse) มากว่า 19 ปี โดยแนวทางในการออกแบบและสร้างคลังสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ จะมีลักษณะยืดหยุ่นแบบ Flexible Solution ตั้งแต่ Built to Suit เพื่อช่วยลูกค้าลดต้นทุน ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ในขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคตจะไม่ใช่แค่การให้บริการคลังสินค้าที่มีมาตรฐานระดับโลก แต่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังร่วมกับพันธมิตรในการนำเทคโนโลยีมาช่วยวางระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย เช่น ในปี 2006 บริษัทฯได้ออกแบบและสร้างอาคารคลังสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าด้านเฮลท์แคร์ โดยมีการดีไซน์อุณหูมิให้เหมาะกับการจัดเก็บสินค้าที่หลากหลาย
นอกจากนี้ต้นทุนโลจิสติกส์ ต่อจีดีพี (GDP) ของประเทศไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมากแต่ก็ยังคงมีต้นทุนสูงถึง 13.4 ต่อ GDP และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนทางด้านโลจิสติกส์รองจากสิงคโปร์ ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์มีการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะในธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ / บริการจัดส่งเป็นต้น รวมถึงในโรงพยาบาล ที่มีการนำระบบ สมาร์ทโลจิสติกส์ (Smart Logistics) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับคลังกลาง อาทิ บิกดาต้า เอ.ไอ. คลาวด์บล็อกเชน-ซีเคียวริตี้ ระบบปฏิบัติการซัพพลายเชน อินบาวน์โลจิสติกส์ อินทราโลจิสติกส์ ไลน์ฟีดดิ้ง เอาท์บาวน์โลจิสติกส์ เส้นทางโลจิสติกส์
ยกตัวอย่าง คลังยาในประเทศญี่ปุ่นที่มีพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร ใช้คนเพียง 8 คน ที่ควบคุมระบบเท่านั้น และทำงานได้ตลอด 24 ชม. นอกจากจะประหยัดต้นทุนในส่วนของกำลังคนแล้ว ในคลังยาของต่างประเทศประมาณ 90% จะใช้ระบบอัตโนมัติครบวงจร (Fully Automated) สำหรับควบคุมอุณหภูมิในระบบคลังยาให้อยู่ในองศาที่กำหนด ซึ่งจะสามารถควบคุมในส่วนของต้นทุนได้ดี เป็นต้น
No comments:
Post a Comment