ผู้เขียน: นางสาวปรัศมนณัชส์ ขู้สกุล
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราจะเห็นความพยายามของการพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองระนองในโครงการต่างๆ มากมายที่ทำกันอย่างต่อเนื่องและแข็งขันในบริบทของพื้นที่และบริบทของระยะเวลาที่ผ่านการผลัดเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ ก็ตาม ในฐานะที่ตนเองซึ่งเป็นนักศึกษาที่ได้มีโอกาสร่ำเรียนในด้านการท่องเที่ยวมานั้น ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากระนองบ้านฉันได้รับการพัฒนาและการจัดการการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้นั้น การท่องเที่ยวของจังหวัดระนองในอนาคตจะสดใสมากเพียงใด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันจังหวัดระนองจะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยหยิบจับจุดแข็งของตนเองจากการมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่รองรับด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาจัดทำเป็นแผนกลยุทธ์และแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งผลักดันให้ระนองเป็นจุดหมายปลายทางของ Spa and Wellness City และ Hot Springs of ASIA และยังมีแผนการพัฒนาของจังหวัดที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการที่เชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนควบคู่กันไปด้วย แต่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดระนองก็ยังดูเติบโตช้าเมื่อเทียบกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน อย่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ ในมุมมองของดิฉันเห็นว่าสาเหตุที่สำคัญ 3 ประการที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดระนองยังเติบโตช้านั้น น่าจะมีสาเหตุจาก
1) จังหวัดระนองยังมีเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่ไม่เอื้อต่อรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมากนัก เนื่องจากจังหวัดระนองยังถูกมองว่าเป็นเมืองรองและเป็นเส้นทางผ่านสู่จังหวัดท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง
2) จังหวัดระนองยังขาดการจัดการมาตรฐานและความพร้อมด้านสถานพยาบาล สถานบริการ และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเฉพาะทางด้านน้ำแร่ธรรมชาติ และ
3) ขาดการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านการบริการทางการแพทย์ และการบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับพื้นที่ ที่พร้อมขยายเข้าสู่ระดับอาเซียนและระดับโลก รวมทั้ง สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาก็ยิ่งตอกย้ำให้ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองนั้นยิ่งเงียบสงัดไปกว่าเดิม
ดังนั้น ในฐานะคนที่ถูกเรียกว่าลูกเสี้ยวระนอง ซึ่งมิใช่ผู้ที่เกิดและเติบโตในจังหวัดระนองซะทีเดียว แต่ได้มีโอกาสคลุกคลีและเดินทางไปเยี่ยมเยือนครอบครัวในจังหวัดระนองอยู่เป็นประจำนั้น ก็ยังอยากที่จะพัฒนาให้การท่องเที่ยวของจังหวัดระนองนี้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพและยังประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำแร่ ทั้งนี้ เพื่อให้จังหวัดระนองเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับอาเซียนได้ในอนาคต ตอนนี้ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเองต่างก็เริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวกันแล้ว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและจากประเทศอื่นๆ เดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ดิฉันจึงเชื่อว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่จังหวัดระนองจะปรับกลยุทธ์ เทคนิค และวิธีการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองเอง โดยนำเทคโนโลยีที่เข้ากับยุคสมัยมาใช้ร่วมกับการปรับช่องทางการตลาดที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น เช่น การตลาดรูปแบบออนไลน์ การลองนำระบบ AR มาปรับใช้กับการสื่อสารเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ทันสมัยและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือการเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองให้ก้าวเข้าสู่ประตูของอาเซียนได้อย่างแข็งแกร่ง โดยการ Upskills Reskills และมองหาทักษะใหม่ๆ ที่จะ New Skills ให้แก่บุคลากรภาคการท่องเที่ยว ซึ่งก็หวังว่าในอนาคตตนเองจะผ่านกระบวนการหล่อหลอมสิ่งต่างๆ เหล่านี้จากการเรียนการสอนที่คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และพร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของ “ระนองบ้านฉัน” ให้พัฒนาได้อย่างภาคภูมิใจ
No comments:
Post a Comment