เสริมความเชื่อมั่นและยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต (Future mobility) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตในระดับโลกนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตทางอุตสาหกรรมยานยนต์อีกมาก และยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านคุณภาพ (NQI) ด้านโทรคมนาคมและทางด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ที่ดีรองรับ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจในการลงทุนของบริษัทชั้นนำระดับโลกทางด้าน Future mobility และเป็นตัวเร่งให้เกิดระบบนิเวศน์ของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงสตาร์ทอัพได้
“ ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ได้ร่วมกับพันธมิตรและบริษัทพนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด ริเริ่มโครงการการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติที่เหมาะกับการใช้งานภายใต้สภาพเงื่อนไขประเทศไทย เพื่อช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการทดสอบและรับรองคุณภาพเพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านสมรรถนะและความปลอดภัยในการใช้งาน วศ. จึงจัดทำโครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติหรือ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground ขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
ดร.นพ.ปฐม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2565 - 2568) ปัจจุบัน วศ. ได้เซ็นสัญญาเช่าที่ดินของจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 26 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง สำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV ตลอดจนประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านๆ เพื่อให้มั่นใจว่า สนามทดสอบดังกล่าวจะสามารถให้ผลการทดสอบได้ตามมาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้จะมีการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางด้านการทดสอบยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมพิจารณาแนวทางการเข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการทดสอบยานยนต์ในประเทศไทย
สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ ครอบคลุมการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV สำหรับใช้ทดสอบระบบนำทางของรถอัตโนมัติ โดยจำลองลักษณะของถนนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนในเขตเมือง สัญญาณจราจร ป้ายจราจร อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น รั้วกันชน พื้นที่อับสัญญาณ เช่น อุโมงค์หรือหลังคา พื้นที่รบกวนสัญญาณภาพ เช่น พื้นที่มีเงารบกวนจากต้นไม้ พร้อมทั้งทดสอบระบบขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV รวมไปถึงระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WiFi, 4G LTE, 5G 2600MHz เพื่อตรวจสอบสมรรถนะการทำงานของโปรแกรมการนำทางและโปรแกรมเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ รวมทั้งทดสอบการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างศูนย์ควบคุมกับรถอัตโนมัติหรือระหว่างรถอัตโนมัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
“เมื่อโครงการนี้เปิดให้บริการ วศ.มั่นใจว่า จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และหุ่นยนต์ของประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล สามารถกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ EEC และในประเทศ ซึ่งคาดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 200,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทยให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่ขายได้ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค มีผู้ประกอบการทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยเพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์รถอัตโนมัติ ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์เสริมความปลอดภัยในการขับขี่ (ADAS) ของไทยได้เอง” ดร.นพ.ปฐมกล่าว
No comments:
Post a Comment