จากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปี 2564-2565 ที่ผ่านมา พอจะเห็นแนวโน้มแล้วว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับเมืองทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก อย่างเหตุการณ์ การเผชิญกับคลื่นความร้อนสูง ถึง 49.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 3 วัน ของประเทศแคนาดา ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน การเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากพายุเฮอริเคน “ไฮดา” น้ำทะลักท่วมรถไฟใต้ดินอย่างหนักที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงของเส้นทางพายุ นอร์ทเท๊กซัส สหรัฐอเมริกา เผชิญฝนตกหนักสุดในรอบ 1,000 ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเมืองดัลลัส ซึ่งเพิ่งเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงไม่กี่วันก่อนหน้า ประเทศจีนที่เผชิญกับคลื่นความร้อนยาวนานและปริมาณฝนตกน้อยสุดในประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งในแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในจีนอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ประเทศปากีสถานประสบวิกกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดจมอยู่ใต้น้ำ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน สำหรับประเทศไทยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก แม้จะตกหนักในช่วงเวลาสั้นแต่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังสูงในหลายพื้นที่ และมีหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมทั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเห็นได้ว่าหากยังคงใช้วิธีการและรูปแบบเดิมในการตั้งรับและแก้ปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาภัยพิบัติที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมคนทุกระดับ และเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ในอนาคตทุกคนอาจจะมีโอกาสได้เผชิญกับมหาอุทกภัยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 หรืออาจจะรุนแรงมากกว่าก็อาจจะเป็นไปได้ กระทบต่อผู้คนที่อยู่ในเมือง
ทั้งนี้ในเดือนตุลาคม มีวันสำคัญต่างๆ ที่สอดคล้องและเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรม ได้แก่ “วันที่ 3 ตุลาคม - วันที่อยู่อาศัยโลก” “วันที่ 13 ตุลาคม – วันลดภัยพิบัติทางธรรมชาติระหว่างประเทศสากล” “วันที่ 17 ตุลาคม – วันขจัดความยากจนสากล” และ “วันที่ 31 ตุลาคม – วันเมืองโลก” ทางโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (Strengthening urban climate governance for inclusive, resilient and sustainable societies in Thailand : โครงการ SUCCESS) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป นำโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (CSNM) และ Maastricht University (UM) จึงได้กำหนดจัดการประชุมใหญ่ปี 2565 ในหัวข้อ “เมืองรู้ร้อนรู้หนาว เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง” ในวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2565 เวลา 8.00-17.00น. ณ. ห้องประชุมณธรรศ โรงแรมเดอะเบด เวเคชั่น ราชมังคลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนและสร้างการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดความเท่าเทียม ครอบคลุมคนทุกระดับ เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการและลดความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยการสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเพียงพอ เพื่อสร้างการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มคนต่างๆ ในเมือง โดยเฉพาะ กลุ่มคนยากจน คนด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ คนชายขอบ กลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าถึงสิทธิและทรัพยากรต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน และเป็นกลุ่มที่มักจะถูกมองข้ามจากการพัฒนาและการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเชิงรุกแบบใหม่ โดยการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาภัยพิบัติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
ผู้ที่สนใจสามารถรับชมถ่ายทอดสด
การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนเรื่องเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่นโยบายสาธารณะ”
วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เวลา 8.00-17.00 น
และ การประชุม “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรณีศึกษาต่างประเทศ” วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00-17.00 น.
ได้ที่ FB: UrbanClimateResilienceThailand
(https://www.facebook.com/UrbanClimateResilienceThailand)
No comments:
Post a Comment