กรุงเทพฯ-28 ก.ย.65: บางกอก เปเปอร์ บิสสิเนส (BPB) ผนึกกำลังกับ ยูโป้ คอร์เปอเรชั่น (YUPO CORPORATION) เจ้าตลาดวัสดุสิ่งพิมพ์และกระดาษสังเคราะห์ทดแทนการใช้เยื่อกระดาษจริง จากประเทศญี่ปุ่น ปักหมุดหมายใหม่ปี 2565 เป็นต้นไป ผลักดันกระดาษสังเคราะห์ยูโป้ นวัตกรรมฉลาก In-mold label (YUPO IML) ฉลากที่สามารถหลอมติดเป็นเนื้อเดียวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Single layer packaging) โดยเฉพาะชนิดโพลิโพรพิลีน หรือ พีพี (Polypropylene : PP) และพลาสติกโพลีเอทิลีน หรือ พีอี (Polyethylene : PE) ที่อยู่ในทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นขวดบรรจุภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภค เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกของไทยมากยิ่งขึ้น ทั้งกระดาษสังเคราะห์ยูโป้ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มฉลากชนิด Linerless label ที่จะช่วยลดขยะไปจนถึงช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยคุณสมบัติเด่นที่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ 100% Fully Recycling แถมยังลดขั้นตอนการนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมารีไซเคิลให้ง่ายและเร็วกว่าเดิมในทางเทคนิค (แบบไม่ต้องลอกแผ่นประกบสติกเกอร์ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการ) ชี้ประโยชน์มหาศาลในระยะยาวทั้งในด้านการลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ เพิ่มความสะดวกและความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และด้านกระบวนการลดภาระสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดขยะพลาสติกและสารเคมีอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่มีในอุตสาหกรรมในขณะนี้ เตรียมผลักดันเป็นแนวคิดในการทำการตลาดยุคใหม่ที่ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้ ซึ่งบริษัทเตรียมนำนวัตกรรมกระดาษสังเคราะห์ยูโป้ แนะนำอย่างเป็นทางการในงาน Pack Print International 2022 ในระหว่างวันที่19-22 ตุลาคมนี้ที่ไบเทค บางนา
นายสมโภช สงวนปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บ.บางกอก เปเปอร์ บิสสิเนส จำกัด เปิดเผยว่า “นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ที่บริษัทได้จับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนฯ กับบริษัท ยูโป้ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (YUPO Corporation) ผู้นำตลาดนวัตกรรมวัสดุสิ่งพิมพ์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีสาขากว่า 70 ประเทศทั่วโลก มีกำลังการผลิตกว่า 28,000 ตันต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ร่วมประเมินการเติบโตของตลาดเมืองไทยและ CLMV ทั้งด้านการทำตลาดและเทรนด์ความนิยมเพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของแผนกลยุทธ์ในการขยายตลาดอย่างเต็มตัวของกลุ่มกระดาษสังเคราะห์ยูโป้ (YUPO: Synthetic Paper) จนได้เล็งเห็นความพร้อมทั้งในด้านการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกในระยะยาว ซึ่งมีผลมาจากการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมอร์สและทิศทางการเปลี่ยนแปลง-ปรับตัว ที่ชัดเจนของภาคอุตสาหกรรมในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รวมถึงความต้องการที่หลากหลายขึ้นในมิติของการทำตลาดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่จะเป็นตัวกำหนดเทรนด์การบริโภคในปัจจุบันและอนาคต จึงเกิดเป็นแผนการร่วมงาน ทางด้านกลยุทธ์และวางทิศทางการทำตลาดภายใต้นโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมโดยได้มีความชัดเจนในหลักการและเดินหน้าแล้วตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา”
“โดยเราจะเน้นการผลักดันให้เกิดการใช้กระดาษสังเคราะห์ยูโป้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพราะจะสามารถสร้างประโยชน์และข้อได้เปรียบอย่างมากให้แก่ทุกฝ่ายทั้งเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์และโรงงานผู้ผลิต-โรงงานเป่าขวดบรรจุภัณฑ์ ในการลดต้นทุน เพิ่มกำไร ได้โอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากให้ทันสมัยแก่บริษัทเหล่านั้นได้ โดยที่บางกอกเปเปอร์ฯจะเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Service Provider) ตั้งแต่องค์ความรู้ของเทคโนโลยีนี้ไปจนถึงเครื่องจักรเราก็มีการลงทุนให้แก่โรงงานคู่ค้าเช่นกัน ซึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก กระดาษยูโป้นี้จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการการพิมพ์ฉลากแนบบนบรรจุภัณฑ์ในขณะเป่าขึ้นรูปเลยในขั้นตอนเดียว (YUPO IML-In Mold Label) ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนอย่างมากในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะในสายการผลิตและโรงงาน การจัดเก็บและเคลื่อนย้าย โลจิสติกส์ ลดค่าแรงงานเนื่องจากการติดฉลาก IML จะลดขั้นตอนการผลิต ลดขั้นตอนการ QC ลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และรวมไปถึงการจัดการขยะเมื่อเทียบกับการติดฉลากในรูปแบบอื่นและที่สำคัญที่สุดคือกระดาษสังเคราะห์ยูโป้ยังเป็นนวัตกรรมวัสดุเพื่อการพิมพ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% (Fully Recycling) เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการทำลายต้นไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราเองตั้งใจนำเสนอแนวคิดและวัสดุเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนชนิดนี้ไม่เฉพาะเพียงแค่แก่ผู้ประกอบการให้ได้ส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพไปสู่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแวดวงของนักกลยุทธ์และนักการตลาด ที่จะสามารถนำไปเป็นข้อมูลต่อยอดสู่แผนการพัฒนาธุรกิจ กลยุทธ์การตลาดและสื่อสารภาพลักษณ์ของทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจในคุณภาพควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน”
ในด้านคุณสมบัติที่โดดเด่นของกระดาษยูโป้(Yupo) เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทกระดาษสังเคราะห์ที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตพลาสติกที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย ที่ทำให้มีคุณสมบัติดีกว่ากระดาษ ผิวเรียบสวยให้งานพิมพ์ที่คมชัดสูง สามารถกันน้ำได้100% มีความทนทาน ฉีกไม่ขาด ไม่หลุด ไม่ลอก เมื่อพิมพ์แล้วตัวหนังสือคงทนไม่เลือน ทนต่อการขูดขีดและไม่ทำปฏิกิริยาต่อน้ำมัน หรือสารเคมี เช่น สารละลายอินทรีย์ สารละลายกรด-ด่าง และสามารถนำไปพิมพ์ฉลากบาร์โค๊ดได้อย่างชัดเจนเหมาะกับการนำไปใช้ทำงานที่ต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยๆได้เช่นกัน และที่สำคัญ คือการนำมาใช้เป็นวัสดุฉลาก IML บนบรรจุภัณฑ์พลาสติกในเชิงพาณิชย์ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการในต่างประเทศและในแบรนด์ชั้นนำในไทย โดยใช้วิธีการติดฉลากลงบนบรรจุภัณฑ์พลาสติกพร้อมกับการเป่าหรือฉีดชิ้นงานในขั้นตอนเดียว ซึ่งฉลากที่พิมพ์ภาพพิมพ์จะถูกแขนกลนำชิ้นงานไปไว้ในแม่พิมพ์ขณะรอขึ้นรูป ณ ตำแหน่งที่ต้องการด้วยระบบไฟฟ้าสถิตหรือระบบลมดูด จากนั้นจึงเป่าหรือฉีดพลาสติกเข้าสู่แม่พิมพ์ ทำให้ฉลากกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกติดเป็นเนื้อเดียวกัน ได้ชิ้นงานที่สวยและปลอดภัยในการนำไปใช้งาน จะทำให้บรรจุภัณฑ์ของเจ้าของแบรนด์สามารถส่งต่อถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสวยงามสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะผ่านการกองเก็บหรือการขนส่งในรูปแบบใดก็ตาม
(*ตัวอย่างแบรนด์พันธมิตรที่เปลี่ยนมาใช้ฉลากวัสดุYUPOเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน)
ด้านนาย ทากาฮิโร คิอูชิ (Takahiro Kiuchi) General Manager บริษัท ยูโป้ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้กล่าวว่า “นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท YUPO CORPORATION ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน เรายังคงยึดมั่นในวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนานวัตกรรมกระดาษสังเคราะห์ทดแทนการใช้เยื่อกระดาษจริง เพื่อช่วยลดการบริโภคทรัพยากรป่าไม้ในระยะยาวอันเป็นแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในอนาคตทั้งทางด้านทรัพยากรและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็มุ่งคิดค้นผลิตภัณฑ์อันจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น และในฐานะผู้บุกเบิกตลาดเฉพาะกลุ่มของกระดาษสังเคราะห์ฯ เรามองเห็นถึงแนวทางการทำงาน วิสัยทัศน์ที่ตรงกัน และการเป็นผู้นำตลาดของบางกอกเปเปอร์ฯ ที่มีชื่อเสียงในวงการวัสดุสิ่งพิมพ์ฯตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องความเข้าใจตลาดสิ่งพิมพ์และมองขาดในการคัดเลือกวัสดุกระดาษพิเศษเข้าสู่ตลาดเมืองไทย(Specialty Paper) ซึ่งในปี 2565 นี้ทั้ง 2 บริษัท ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อน เดินหน้า ร่วมผลักดันให้แนวนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมสิ่งพิมพ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและอนาคตที่ยั่งยืน ได้กลายเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจและกำหนดกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ของบริษัทชั้นนำทั่วโลกรวมไปถึงโรงงานผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งในตลาดประเทศไทยและตลาดโลก”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากทางฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ฯของยูโป้ คอร์เปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่นได้ให้รายละเอียดจากการศึกษาและวิจัยเชิงลึกในด้านการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ว่ากระดาษสังเคราะห์ยูโป้ (YUPO) นั้นถูกจัดเป็น วัสดุ In-process eco-friendly ตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งต้นแล้ว เพราะที่มาของยูโป้เริ่มขึ้นจากการคิดค้นเพื่อผลิตวัสดุทดแทนการใช้กระดาษ จากแนวคิดในการลดการตัดต้นไม้ เพื่อรักษาป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ต้นทางของการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยยูโป้นั้นใช้วัตถุดิบหลักคือ โพลีโพพิลีน ผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ปราศจากขั้นตอนการตัดไม้ทำลายป่า (100% Tree Free) ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย โลหะหนัก สารทำลายชั้นบรรยากาศอย่างคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon, CFC) สารก่อมะเร็งแอสเบสทอส (Asbestos), ฟอมัลดีไฮด์ (Formaldehyde) และคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) ด้วยการควบคุมการผลิตอย่างใส่ใจในทุกขั้นตอนทำให้สามารถวัดค่า CO2 ระหว่างการผลิตเทียบเท่ากับการผลิตกระดาษทั่วไปแต่น้อยกว่าการผลิตฟิล์ม, นอกจากนี้ ยังลดการใช้น้ำด้วยการออกแบบขั้นตอนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทำให้การผลิตยูโป้ใช้น้ำน้อยมากเมื่อเทียบกับการผลิตกระดาษทั่วไป ถือเป็นการคิดค้นอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ฉะนั้นยูโป้จึงเป็นกระดาษสังเคราะห์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยรักษาสมดุลย์ป่า แหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และอากาศบริสุทธิ์ให้แก่โลกของเราต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
และบางกอกเปเปอร์บิสนิเนส จะนำนวัตกรรมกระดาษสังเคราะห์ยูโป้ เข้าร่วมงาน Pack Print International 2022 ในระหว่างวันที่19-22 ตุลาคมนี้ที่ไบเทค บางนา ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานที่บูธเลขที่ F41 Hall 100 หรือสอบถามข้อมูลวัสดุกระดาษและกระดาษสังเคราะห์ยูโป้เพื่องานพิมพ์ งานบรรจุภัณฑ์ งานโฆษณา งานป้าย และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ผ่าน LINE OA: @bangkokpaper, @yupothailand
No comments:
Post a Comment