เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส. ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)กรมพลศึกษา และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2 ณ แม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 21 – 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนได้แสดงความรู้ความสามารถ ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นฑูตในการสื่อสารเรื่องเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้เพราะนักพากย์เรือเป็นสีสันที่สำคัญของงานแข่งเรือ และคนส่วนหนึ่งตั้งใจมาดูนักพากย์เรือมากกว่าการแข่งเรือ โดยการจัดงานครั้งนี้ มีการคัดเลือกนักพากย์เรือเยาวชนเข้าร่วมแข่งขัน 22 คน แบ่งเป็นการแข่งขันประเภทบุคคล และประเภททีม
ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะและทุนอุปถัมภ์ สคล. กล่าวว่าสำหรับผลการแข่งขันประเภทบุคคล ผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท ได้แก่นายภูพิพัฒน์ กิตินันท์ รางวัลรองชนะเลิศได้แก่ นายนันทกานต์ พรมศรี ด.ญ.ปริยฉัตร ปะระมะ และนายรักแท้ จานทอง ตามลำดับ ส่วนผลการแข่งขันประเภททีม โดยทีมที่ชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมทุนการศึกษา 25,000 บาท ได้แก่ ทีมจากภาคเหนือ (จังหวัดน่าน) เยาวชนนักพากย์เรือประกอบด้วย เด็กชายณัฐประวุฒิ ชุมนันท์ เด็กชายศักรินทร์ ยาแก้ว นางสาวจิราธร กรีเรียน เด็กหญิงรุจิลักษณ์ ชัยสมทิพย์ นางสาวเขมอักษร ทิพย์ปัญญา ส่วนรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ทีมจากภาคใต้ (จังหวัดชุมพร) และ รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ทีมจากภาคอีสาน (จังหวัดสุรินทร์)
“ผมขอเป็นกำลังให้นักพากย์เรือสร้างสุขในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีนักพากย์เรือเยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้การเป็นนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข แล้วพัฒนาตนเองไปสู่การทำงานด้านสื่อมวลชน เช่น น้องออมสินจากจังหวัดน่าน ที่เป็นนักจัดรายการวิทยุแล้ว และยังมีน้องๆ ลูกศิษย์ของอาจารย์สุรเชษฐ์ โพธิ์อ่อน อีก 2 คน ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันพากย์เรือเยาวชนกับ สคล. ตอนนี้ก็พัฒนาเป็นนักพากย์กีฬาฟุตบอล และพากย์กีฬาต่างๆ แล้ว เราจึงคาดว่าในอนาคตนักพากย์เรือเยาวชนจะพัฒนารูปแบบการพากย์ที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และจะทำให้เยาวชนทันมาให้ความสำคัญกับประเพณีแข่งเรือยาวมากขึ้น” นายวิษณุ กล่าว
ด้าน น.ส.เขมอักษร ทิพย์ปัญญา ตัวแทนนักพากย์เรือเยาวชนภาคเหนือที่ชนะการประกวด กล่าวว่า การเข้าร่วมประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข กับ สคล. ทำให้ตนและทีมเป็นที่รู้จักและได้รับเชิญให้พากย์เรือในสนามแข่งขันในจังหวัดน่าน เฉลี่ยปีละ 8 สนาม และได้โอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับ สคล. เช่น การเข้าค่ายพัฒนาศักยภาพนักพากย์ที่สมุทรสาคร พัฒนาการใช้ภาษาไทยกลางในการพากย์เรือ นอกจากนี้ยังได้โอกาสเข้าค่ายพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชน “Y-SDN”
ขณะที่ นายภูพิพัฒน์ กิตินันท์ ผู้ชนะเลิศในประเภทเดียว กล่าวว่า การเป็นนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขนอกจากจะทำให้เป็นที่รู้จักแล้ว ยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบ คือต้องหาข้อมูลและเตรียมตัวในการพากย์เรือให้ออกมาดีที่สุด รวมถึงต้องบริหารเวลาในการเรียนให้ดีที่สุดเช่นกัน.
No comments:
Post a Comment