สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรสมาชิก เพื่อร่วมผลักดันความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) และ พันธมิตร แถลงข่าวการจัดงาน “TMA Excellence Awards 2022” เตรียมประกาศผล 3 รางวัลอันทรงเกียรติ นำโดย รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022 รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 9 สาขารางวัลพระราชทาน, รางวัล SMEs Excellence Awards จำนวน 3 สาขารางวัลพระราชทาน และ รางวัล Thailand Digital Excellence Awards 2022 จำนวน 5 รางวัล โดยการประกาศรางวัลครั้งนี้เป็นการมุ่งเฟ้นหาสุดยอดองค์กรธุรกิจไทยที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ มุ่งผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ อันจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ งานประกาศผลรางวัล “TMA Excellence Awards 2022” จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก โดยมี ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติและผู้บริหารองค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อในแต่ละสาขารางวัล ร่วมงานด้วย
นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร รองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และประธานคณะอนุกรรมการโครงการ TMA Excellence Awards กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า TMA เล็งเห็นว่าภาคธุรกิจคือแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเรียนรู้จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้ามีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ จึงได้จัดทำโครงการรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards ขึ้น โดยจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 เพื่อเฟ้นหาองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ เหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้และนำแนวทางมาพัฒนาบริหารจัดการองค์กรของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินโครงการที่มีมาอย่างยาวนานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า TMA เป็นสมาคมขององค์กรที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศ พร้อมกับเป็นการกำหนดเกณฑ์ที่สำคัญในการบ่งบอกหรือชี้วัดความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ โดยในโครงการนี้มีการมอบรางวัลทั้งสิ้น 3 รางวัล ได้แก่
1. รางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards (TCEX) จัดต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี โดยความร่วมมือระหว่าง สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเฟ้นหาองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศเหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้และนำแนวทางมาพัฒนาบริหารจัดการองค์กรของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันได้รับการยืนยันถึงความสำคัญด้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ มีกระบวนการที่โปร่งใส ได้รับการยอมรับและเชื่อถือ สร้างความภาคภูมิใจต่อองค์กร และเพิ่มคุณค่าในการดำเนินธุรกิจ
รางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2022 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9 สาขารางวัล โดยแบ่งประเภทของสาขารางวัลออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ตามจำนวนรายได้รวมของปี พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้
สาขารางวัลสำหรับองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 8 สาขา ได้แก่
1. สาขาความเป็นเลิศด้านการบริหารทางการเงิน (Financial Management Excellence)
2. สาขาความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Excellence)
3. สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Innovation Excellence)
4. สาขาความเป็นเลิศด้านผู้นำ (Leadership Excellence)
5. สาขาความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence)
6. สาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า/การบริการ (Product / Service Excellence)
7. สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Excellence)
8. สาขาความเป็นเลิศในการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร (Corporate Improvement Excellence)
สาขารางวัลสำหรับองค์กรขนาดกลางที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการโดยรวม (Corporate Management Excellence)
ในส่วนของขั้นตอนการคัดเลือกนั้น คณะทำงานโครงการฯ ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่มีรายได้สูงสุด 1,000 องค์กรในประเทศไทย พัฒนารูปแบบให้มีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้นในแต่ละปี เพื่อเจาะลึกพื้นฐานหลาย ๆ ด้านของแต่ละองค์กรที่มีความเป็นเลิศว่าควรมีคุณลักษณะอย่างไรและคุณลักษณะใดเป็นสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญมากที่สุด โดยนำข้อมูลการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ จากโครงการมาถอดรหัสจัดระบบเป็นองค์ความรู้และวิเคราะห์ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจนเป็นที่ยอมรับของภาคธุรกิจ
2. รางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 เพื่อเชิดชูองค์กรและ SMEs ที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการในสาขาต่าง ๆ มอบให้แก่องค์กรต้นแบบในการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการ ถือกำเนิดจากความสำเร็จของรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards (TCEX) จากการสนับสนุนของพันธมิตรธนาคารชั้นนำของประเทศและองค์กรขนาดใหญ่ (ที่เคยได้รับรางวัล TCEX) ในการช่วยนำพาองค์กรขนาดเล็กและกลางให้ดำเนินธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง เกิดเป็นรางวัล SMEs Excellence Awards โดยแบ่งประเภทรางวัลสำหรับ SMEs และองค์กรที่เสนอชื่อในแต่ละประเภทธุรกิจ ได้แก่
1) รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2) รางวัล SMEs Excellence Awards ดีเด่นระดับ Gold และ Silver
โดยมีหลักเกณฑ์ในการประเมิน 7 หัวข้อประกอบไปด้วย
1. ด้านความเป็นผู้นำ
2. ด้านการบริหารจัดการบุคคล
3. ด้านการบริหารการเงิน
4. ด้านการบริหารการตลาด
5. ด้านผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือกระบวนการในการทำการค้าปลีกหรือค้าส่ง
6. ด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
7. ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือความรับผิดชอบต่อสังคม
3. และล่าสุดกับ รางวัล Thailand Digital Excellence Awards รางวัลแห่งความเป็นเลิศทางด้านการบริหารจัดการดิจิทัล จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ รางวัล Business Model Innovation, รางวัล Culture & Talent, รางวัลBionic Company, รางวัล Tech Innovation & AI และ รางวัล Optimized Operations มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการดิจิทัลขององค์กรในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2563 ได้มีการนำเครื่องมือประเมินของ BCG หรือที่เรียกว่า Digital Acceleration Index (DAI) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความสามารถในการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีภายในองค์กร ซึ่งครอบคลุม 6 ฟังก์ชั่นหลัก เพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนขององค์กรและเพื่อการวางแผนในการพัฒนาองค์กรผ่านผลวิเคราะห์ที่ได้จากการประเมิน โดยการประเมินจะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1) แผนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัลเทคโนโลยี
2) การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการทำงานหลักต่างๆ ขององค์กร เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายปฏิบัติการ และหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ
3) การพัฒนาการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีหรือการมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในองค์กร
4) การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการขับเคลื่อนองค์กร
5) การปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการทำงานเพื่อสอดคล้องกับดิจิทัลเทคโนโลยี
6) การเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านข้อมูลและดิจิทัลเทคโนโลยี
7) การผสมผสานการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีให้เกิดเป็น Ecosystem
นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารองค์กรที่เคยได้รับรางวัลมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดในการพัฒนาองค์กร เริ่มจากท่านแรก ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด มหาชน ซึ่งเคยได้รับรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards สาขาความเป็นเลิศด้านการตลาดโดยเล่าถึงความสำเร็จของโครงการ “เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ” ที่เกิดขึ้นจากวิกฤต Covid-19 ที่ทำให้ตระหนักว่าธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามโลกให้ทันจนเกิดการริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวต่อไปได้ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นโดยยึดพันธกิจหลักคือ Better Future for All การประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสามส่วนหลัก ได้แก่ Profit - ผลกำไร People - ประชาชน และ Planet - คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของโลก
สำหรับรางวัล SMEs Excellence Awards คุณวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ ผู้ก่อตั้งศรีฟ้าเบเกอรี่ ได้เล่าถึงความสำเร็จจากจุดเริ่มต้นเพียงร้านเล็ก ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี สู่อาณาจักรเบเกอรี่ยอดขายกว่า 700 ล้านบาทด้วยคติประจำใจที่ว่า “ค่อย ๆ โต แต่โตทุกวัน” ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาศรีฟ้าเองก็ได้รับผลกระทบหนักต้องปิดโรงงาน ความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท แต่โควิดก็ช่วยให้ได้มีเวลาฉุกคิดถึงทิศทางองค์กร การขยายตลาดและการพัฒนาเทคโนโลยี จนทำให้ในช่วงสามปีที่ผ่านมาศรีฟ้ามีผลกำไรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก ๆ ปี เป็นแง่คิดที่ทำให้เห็นว่า “ในดีมีเสียในเสียมีดี ทุกวิกฤติมีโอกาสให้เราเติบโตเสมอ”
และท่านสุดท้ายที่มาร่วมแบ่งประสบการณ์ คือ คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัล Thailand Digital Excellence Awards สาขา Thai Digital Champion for Tech Innovation & AI เผยว่า “กรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชนในทุกวิกฤติ ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจาก Digital Disruption ที่เปรียบเป็นการปฎิวัติอุตสาหกรรมโลกครั้งที่ 4 และแนวโน้มของโลกธนาคารที่ดิจิทัลจะเป็นปัจจัยที่ 5 เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ขณะที่ธุรกิจธนาคารจะมุ่งสู่ Open Banking มากขึ้น ธนาคารจึงได้พัฒนาแอปฯ Mobile Banking นั่นคือ Krungthai NEXT และพัฒนาแอปฯ เป๋าตังค์ ซึ่งเป็นระบบเปิดที่มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ครอบคลุมบริการภาครัฐผ่าน G-Wallet บริการด้านการลงทุนผ่านวอลเล็ต สบม. หุ้นกู้ดิจิทัล Gold Wallet และบริการด้านสุขภาพผ่าน Health Wallet รวมถึงบริการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลบนแอปฯ เป๋าตังค์ เพื่อตอบโจทย์โลกธุรกิจยุคใหม่ โดยนำระบบการเงินเข้าไปฝังตัวในปัจจัย 4 ของมนุษย์ หรือในชีวิตประจำวันของคนไทย ตามแนวคิด Invisible Banking ทำให้ธนาคารสามารถเป็นกลไกของรัฐ และเสาหลักของเศรษฐกิจในกาช่วยเหลือประชาชน และดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของธนาคาร “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”
No comments:
Post a Comment