วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยรายใหญ่ประเทศญี่ปุ่น Japan Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) จัดการประชุมสภาวิจัยโลกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 22 (2022 Global Research Council Asia-Pacific Regional Meeting) ระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2565 โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และปาฐกถาในหัวข้อ “ความสำคัญของความเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อสังคม” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, รองศาตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, Mr.Shigeo Morimoto, Vice President แห่ง Japan Science and Technology Agency และ Dr.Tetsuya Mizumoto, Executive Director แห่ง Japan Society for the Promotion of Science กล่าวต้อนรับ ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีผู้นำหน่วยงานให้ทุนวิจัยระดับโลกจาก 16 ประเทศเข้าประชุม เพื่อร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางการสนับสนุนทุนวิจัยโลก ณ โรงแรมโนโวเทล สยามแสควร์ กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยของประเทศไทย ได้แก่ วช. สกสว. และ บพค. ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม “สภาวิจัยโลกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งมีผู้นำจากหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยชั้นนำระดับโลกกว่า 16 ประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ติมอร์-เลสเต นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ บราซิล ฟิลิปปินส์ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย อิหร่าน และอิตาลี เข้าร่วมประชุม โดยสภาวิจัยโลกเป็นการรวมตัวของหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยจากทั่วโลกที่ริเริ่มมาจาก US National Science Foundation (NSF) เมื่อปี พ.ศ.2555 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเตรียมความพร้อมของหัวข้อและกรอบการประชุมสำหรับการประชุมประจำปีที่ผู้นำหน่วยงานให้ทุนจากทั่วโลกจะรวมตัวกันที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในกลางปีหน้า โดยเน้น 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. เรื่องบทบาทของหน่วยงานให้ทุนวิจัยต่อการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และ 2. เรื่องรางวัลและกระบวนการในการยกย่องนักวิจัยที่มีบทบาทในการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ (Reward and Recognition Mechanism for Researchers)
สำหรับประชุมสภาวิจัยโลกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในครั้งนี้ ไทยได้ยกตัวอย่างการทำงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับลงไปถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ สร้างผู้ประกอบการในพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 6,000 ราย สร้างรายได้กว่าสองร้อยล้านบาทให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ โดยหวังว่าโมเดลการสนับสนุนทุนแบบสหวิทยาการที่ยึดโยงการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับนี้จะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยทั่วโลกจะได้หยิบยกไปพิจารณา และขยายผลในที่ประชุมประจำปีสภาวิจัยโลกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในกลางปีหน้าต่อไป
No comments:
Post a Comment