สกสว. จัดประชุมสรุปผลจากการระดมสมอง 12 หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday, 20 February 2023

สกสว. จัดประชุมสรุปผลจากการระดมสมอง 12 หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว.

สกสว. จัดประชุมสรุปผลจากการระดมสมอง 12 หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ก่อนยื่นข้อเสนอโครงการ

เพื่อยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ

และสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรในการขับเคลื่อนเพื่อการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ครั้งที่ 1/2566 โดยเชิญผู้บริหาร/ผู้แทนหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยจำนวน 12 หน่วยงานที่สังกัดกระทรวง อว. ร่วมรับฟังผลสรุปและความเห็นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเพื่อการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ครั้งที่ 2” รวมถึงนโยบายและแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพค. ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์  2566 ณ โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ (สามย่าน)

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ กล่าวว่า หน่วยงานวิจัยถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ทาง สกสว. จึงได้เชิญผู้แทนหน่วยงานด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรจากสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังกัดกระทรวง อว. รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมเป็นคณะทำงานชุดนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนา ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ กำลังคนและความเชี่ยวชาญ ตลอดจนทำความเข้าใจและมีข้อตกลงร่วมกันในบทบาทหน้าที่และเป้าหมายสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่ละแห่งผ่าน 3 กลไกคือ (1) การทำงานร่วมกันในระดับผู้บริหาร  (2) ความร่วมมือและสนับสนุนข้อมูลในการออกแบบและพัฒนากลไกให้สถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถยกระดับให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ (3) การยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ผ่านการสนับสนุนงบประมาณเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund; SF) และการสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund; FF)  ซึ่งจะทำให้หน่วยงานสามารถยกระดับให้เกิดการพัฒนาประเทศได้  โดยการประชุมนี้จะเน้นการนำเสนอผลสรุปและรับฟังความเห็นจากที่ประชุมที่นำไปสู่เป้าหมายการยกระดับหน่วยงานให้เทียบเคียงกับหน่วยงานคู่เทียบในต่างประเทศ ให้หน่วยงานเห็นช่องว่างของการพัฒนา (Room of improvement)  และสามารถจัดทำข้อเสนอโครงการของหน่วยงานต่อไป


ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสุชาติ หัวหน้าโครงการวิจัย “โครงการขับเคลื่อนการรยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ” ได้สรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมสมองร่วมกับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยจำนวน 12 แห่งที่สังกัดกระทรวง อว. พบว่าการจัดกลุ่มหน่วยงานแต่ละกลุ่มมีลำดับความสำคัญไปในแนวทางเดียวกันและได้นำแนวทางการพัฒนาที่ได้มาวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อให้ตรงตามกรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับสถาบันฯ ที่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ (Key result) ของแผนงานพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจนและสามารถเทียบเคียงนานาชาติ (P22)  ตัวอย่างเช่น แนวทางการยกระดับในกลุ่มหน่วยงานเฉพาะทางสารสนเทศและองค์การส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คือ การจัดตั้ง Academy Center ด้านการบริหารและจัดการน้ำที่เชื่อมโยงและเข้าถึงได้ในระดับพื้นที่ กลุ่มหน่วยงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครบวงจร เน้นแนวทางการยกระดับเพื่อปรับปรุงข้อมูลการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. แบบ open science การเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการและสถานีวิจัยเพื่อการวิเคราะห์สำหรับงานวิจัยขั้นสูงและการยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรในต่างประเทศ การเตรียมความพร้อมในการยกระดับเป็นผู้ผลิตสารอ้างอิงมาตรฐานเพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐาน ISO 17034 และการพัฒนามาตรฐานการวัดปฐมภูมิดิจิทัล เป็นต้น


เช่นเดียวกับ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.พสุ โลหารชุน ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ให้ข้อคิดเห็น ว่า การยกระดับหน่วยงานให้เทียบเคียงกับหน่วยงานที่เป็นคู่เทียบ จำเป็นต้องเดินให้ถูกทาง ต้องปรับความต้องการ (need) ตามพันธกิจหน่วยงานให้ตรงกับความต้องการของประเทศให้ได้  ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคต และ การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เชื่อมต่อกับการทำงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  (สสว.) เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยเข้าถึงในด้านการทดสอบมาตรฐาน โดยมีกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ให้ภาคเอกชนสามารถขยับผลิตภาพการผลิตจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 40 GDP ของประเทศ รวมถึงการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องในเรื่อง connecting skill set  เพื่อให้เข้าใจ pain point ของผู้ประกอบการ


ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์  เศรษฐพรรค์  รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวถึงนโยบายและแนวทางการสนับสนุนแผนงานพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจนและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ ว่า ภายใต้แผนงานย่อยมีเป้าหมายเพื่อการยกระดับระบบนิเวศ ววน. สู่สากล (reinventing to excellence)  การเข้าถึงบริการ ววน. (Utilization) และกลไกภาคีเครือข่าย ววน. (Strengthen Network)  ซึ่งการเข้าถึงบริการ ววน. จะเชื่อมให้เกิดการเข้าถึงของผู้ประกอบการได้อย่างไร  บพค. จึงจะแบ่งการทำงานเป็น 4 ระยะด้วยกัน โดยในระยะแรกนี้จะเน้นการจัดลำดับความสำคัญโดยการวางแผนร่วมกัน การสร้างเครือข่ายร่วมกัน  หลังจากนี้จะเน้นการสร้าง Strategic Pilot โดยการใช้งานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน  การให้บริการระดับชาติ (National facility) ที่นำไปสู่ Global facility โดยสร้าง Global excellence ในรูปแบบการใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น  


ในส่วนนี้ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. กล่าวเสริมและย้ำว่า การพัฒนาข้อเสนอโครงการที่แต่ละหน่วยงานเสนอในการประชุมระดมสมองในครั้งนี้ ขอให้หน่วยงานนำไปพัฒนาเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนก่อน และเน้นย้ำว่าข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานนำส่งมายัง บพค. นั้นจะต้องเป็นงานที่มีกลยุทธ์ที่สามารถส่งมอบผลลัพธ์สำคัญโดยใช้ตัวชี้วัด (Key result) ของแผนด้าน ววน. ปี พ.ศ.2566-2570 ในโปรแกรมที่ 22 เป็นตัวตั้งเพื่อให้ได้ผลในระยะ 5 ปีเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ 








No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages