“มูลนิธิเด็ก เยาวชนฯ” รุดช่วยเหลือยื่นหนังสือถึงอธิบดี ดย. สอบข้อเท็จจริงคืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย พร้อมถอดบทเรียนวางเกณฑ์สกัดปัญหาซ้ำรอยในสถานเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ ชงเข้มติดตั้งกล้องวงจรปิดใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสุ่มตรวจต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 66 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว พร้อมด้วย นางสาวพัชรา ยิ่งยงค์สันต์ คุณแม่ของเด็กชายกุนพิธาน์ ทองพูล อายุ 1 ปี 11 เดือน ที่เสียชีวิตในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน เดินทางมายื่นหนังสือถึง ถึงนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีน้องกุนและครอบครัว โดยมี โดยมี นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กฯ และเยาวชน เป็นผู้รับหนังสือ
นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า การที่ครอบครัวหนึ่งต้องสูญเสียแก้วตาดวงใจในสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น หนำซ้ำเมื่อเกิดขึ้นแล้วยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เพียงแต่อ้างว่ากล้องวงจรปิดเสียหาย แถมยังมีข่าวว่าครอบครัวรับเงินเยียวยาไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง ทำให้เกิดข้อสงสัยในสาเหตุการเสียชีวิตของน้องกุนอย่างมาก ซึ่งจนถึงขณะนี้ครอบครัวยังไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด ส่งผลกระทบซ้ำเติมความสุญเสียมากขึ้นไปอีก ปัจจุบันคุณแม่น้องกุนอยู่ในภาวะป่วยซึมเศร้าและต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ ส่วนผู้เป็นพ่อยังอยู่ในภาวะเศร้าเสียใจ บอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรง มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทั้งสองอย่างมากดังนั้นมูลนิธิเด็กฯ ได้มีการหารือร่วมกับครอบครัวผู้เสียหายแล้ว จึงเดินทางมายื่นหนังสือที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้
1. ขอให้เปิดเผยข้อมูลว่าสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้มีใบอนุญาตถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ มีการตรวจสอบความพร้อมของสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้หรือไม่ และกรมกิจการเด็กฯ จะมีมาตรการกับสถานประกอบการแห่งนี้อย่างไร
2. ขอเรียกร้องให้กรมกิจการเด็กฯ มีข้อกำหนดให้สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยความยินยอมจากผู้ปกครองเด็ก สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ต้องกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ป้องกันการอ้างเหตุผลว่ากล้องวงจรปิดเสีย และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์นี้ว่ากล้องวงจรปิดเสียจริงหรือไม่
3. ขอให้กรมฯ ซึ่งดูแลสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนทั่วประเทศ ถอดบทเรียนจากกรณีนี้รวมถึงเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข กลไกต่าง ๆ ให้รัดกุมมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อาทิการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ การฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฯลฯ รวมไปถึงการควบคุมสถานประกอบการที่มีเด็กในความดูแลไม่ถึง 6 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาตว่าจะดำเนินการกำกับดูแลอย่างไร และ
4. ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ ให้เร่งทำความจริงให้ปรากฏ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ครอบครัวผู้สูญเสียโดยเร็ว และขอให้ผู้ปกครองทุกคนช่วยกันตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนให้ดี ควรเฝ้าระวังลูกหลานอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นางสาวพัชรา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา น้องกุนอยู่ในการดูแลของเนอสเซอรี่เด็กดีมิตรไมตรีของครูแอน ตามที่ตนได้ว่าจ้างให้เป็นผู้ดูแลน้องกุน จากนั้นในช่วงบ่ายตนได้รับแจ้งจากครูพี่เลี้ยงว่าน้องไม่หายใจ อยู่ระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์ มีการปั้มหัวใจจนน้องกลับมามีชีพจรอีกครั้ง ก่อนส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนพรัตน์ และเสียชีวิตในวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ตนยังคาใจกรณีที่เนอสเซอรี่บอกว่ากล้องวงจรปิดเสียทำให้ไม่มีภาพวันเกิดเหตุ จุดนี้ถือว่าผิดปกติมาก หลังจากนั้นก็มีข่าวออกมาว่าครอบครัวตนรับเงินเยียวยาไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะตั้งแต่เกิดเหตุไม่เคยมีคนที่เนอสเซอรี่มาร่วมงานเลย มีเพียงพวงหรีดส่งมาร่วมงานศพวันสุดท้ายเท่านั้น ที่ผ่านมาเจอหน้ากันเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่สถานีตำรวจหนองจอก ดังนั้นเรื่องนี้ทางครอบครัวหารือกันแล้วว่าจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางสังคม ไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดกับครอบครัวอื่นอีก
“เราอยากให้สถานรับเลี้ยงเด็กกว่า 1,385 ทั่วประเทศมีปลอดภัยจริง ๆ สำหรับลูกหลาน และอยากวิงวอนไปยังเจ้าหน้าที่ กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งทำความจริงให้ปรากฏ และอำนวยความยุติธรรมให้กับเราโดยเร็ว เพราะทุกวันนี้ตัวเองก็ต้องพึ่งหมอช่วยรักษาอาการซึมเศร้า อย่างน้อยเมื่อเราได้รับความยุติธรรมมันอาจจะช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้บ้าง เพราะเราคือผู้สูญเสีย ชีวิตยังไม่รู้จะไปต่ออย่างไร” นางสาวพัชรา กล่าว
ขณะที่ นางสาวสุนีย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสถานรับเลี้ยงเด็กดังกล่าวยื่นขออนุญาตเปิดกิจการเมื่อปี 2560 และต่อใบอนุญาตทุกปี อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุการณ์ทางกรมกิจการเด็กฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้ปิดกิจการแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ส่งเอกสาร ข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาคดีไปให้สถานีตำรวจหนองจอกตามที่ได้ร้องขอมาแล้ว และจะช่วยติดตามเร่งรัดคดีอีกทางหนึ่ง สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมงนั้น อาจจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิเด็กได้ แต่กฎกระทรวงกำหนดให้พี่เลี้ยงอยู่กับเด็กตลอด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางกรมฯ มีแผนถอดบทเรียนและนำข้อมูล ข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้การดูแลเด็กได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวใดก็ตาม สำหรับสถานรับเลี้ยงเด็กไม่เกิน 6 คน ไม่ต้องขออนุญาตนั้น ทางหน่วยงานอาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึง แต่ขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้สามารถแจ้งมาที่สายด่วน 1300 ได้ตลอด หรือแจ้งผ่านเฟสบุ๊คกรมฯ เราจะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริงจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป.
No comments:
Post a Comment