กสว.รับทราบโมเดลใหม่ของการสมทบงบประมาณและการบริหาร “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” และอนุมัติการมอบอำนาจให้ สกสว. จัดสรรงบประมาณภายใต้ความร่วมมือกองทุนส่งเสริม ววน. และกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. หวังจับคู่สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตไปพร้อมกัน โดยนำเทคโนโลยีไปยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้เข้มแข็งมากขึ้น
24 กุมภาพันธ์ 2566 -- ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวาระสำคัญ คือ การรับทราบรูปแบบการสมทบงบประมาณและการบริหารงบประมาณระหว่างกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมอบอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสรรเงินให้ ส.อ.ท. ตามหนังสือแสดงเจตจำนง ภายใต้กรอบวงเงินที่ กสว.อนุมัติ ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี และให้รายงานต่อ กสว.เพื่อรับทราบการจัดสรรเงิน
รศ. ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน และ ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ ส.อ.ท. ได้รายงานความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงานกองทุนนวัตกรรมฯ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” ภายใต้กรอบความร่วมมือให้กองทุนฯ มีความยั่งยืน รวมถึงยกระดับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ จึงได้ออกแบบโมเดลการดำเนินงานเพื่อให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทุนกับภาครัฐ ทั้งแผนการลงทุน แผนการดำเนินงานโครงการ การจัดเตรียมกรอบและแผนการเบิกจ่ายเงินเพื่อจับคู่กับกรอบวงเงินที่ภาคีภาคเอกชนแจ้งมา โดยอินโนเวชั่นวันจะจัดหาเอสเอ็มอีที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้อนุมัติงบประมาณ 185 ล้านบาทในการดำเนินงาน ซึ่งจะแบ่งงบร้อยละ 80 สนับสนุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพที่สามารถยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ ได้ หลังจากนั้นจะเจรจากับเอสเอ็มอี โดย ส.อ.ท.จะใช้เครือข่ายเอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรมที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ เพื่อให้สตาร์ทอัพทำธุรกิจได้จริง ขณะที่เอสเอ็มอีสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้เข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ยังออกแบบให้เอสเอ็มอีมีโอกาสเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับสตาร์ทอัพ โดยใช้งบอีกร้อยละ 20 ในการกระตุ้นให้เกิดก้าวต่อไปในองค์รวมของอุตสาหกรรมโดยไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเมื่อมีเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมหรือสร้างอุตสาหกรรมใหม่ มักไม่ค่อยมีเอสเอ็มอีมาของบจากภาครัฐ จึงต้องมีคนช่วยผลักดัน เช่น เครื่องมือแพทย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นและเกิดผลกระทบต่อองค์รวมของประเทศ โดย ส.อ.ท.จะมีเกณฑ์การคัดเลือกโครงการเพื่อไปสู่เป้าหมายและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ ต้องหาเอสเอ็มอีที่จะมาเป็นลูกค้าให้ได้ และประสานกับสตาร์ทอัพที่มีลูกค้ารออยู่
“รูปแบบการสมทบงบประมาณและการบริหารงบประมาณดังกล่าว ถือเป็นโมเดลใหม่ของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนจากความต้องการของ SMEs ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และเป็นลูกค้า (Demand Driven) ของสตาร์ทอัพ แต่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิสราเอล ได้ดำเนินการแล้ว โดยเริ่มจากฝั่งผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้นำสินค้าเข้าสู่ตลาด โดย กสว. มอบอำนาจให้ สกสว.จัดสรรเงินตามหนังสือแสดงเจตนา (Letter of Intention) ของ ส.อ.ท. และแหล่งทุนเอกชนที่พร้อมแผนดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการตรวจสอบของกองทุนฯ” ประธาน กสว. กล่าว
ดร.วิบูลย์ |
นอกจากนี้ กสว.ยังได้รับทราบคำของบประมาณของกองทุนส่งเสริม ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 3.11 หมื่นล้านบาท และความก้าวหน้าในการดำเนินการ ซึ่ง สกสว. ได้ปรับปรุงรายละเอียดคำของงบประมาณโดยเฉพาะงบด้านการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ยื่นคำของบประมาณกองทุนส่งเสริม ววน. ต่อสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว
No comments:
Post a Comment