นายอนุกูล กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีอันดีงามของไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่ทุกปีจะถูกจับตาเรื่องอุบัติเหตุทางถนน เพราะประชาชนเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนาจำนวนมาก รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิด การคุกคามทางเพศ พฤติกรรมเล่นน้ำที่ไม่เหมาะสม ทะเลาะวิวาท โดยเฉพาะกรณีที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ปีนี้ทีม One Home พม. จังหวัดทุกจังหวัด และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์ลงพื้นที่แจกสติกเกอร์ และติดป้าย “สงกรานต์ปลอดภัย สาดสุข เคารพสิทธิ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ และ ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พัฒนาช่องทางการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Service : ESS) ผ่าน Line Chat Bot "ESS Help Me ปักหมุด หยุดเหตุ" เพื่อแจ้งระงับเหตุด่วน 5 ประเภท 1.ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้ายร่างกาย 2.กักขังหน่วงเหนี่ยว 3.เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ 4. ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย 5.มั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้าย หรือสามารถแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 ฟรี 24 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่พร้อมช่วยเหลือเต็มที่ ในโอกาสวันสงกรานต์ ขอให้ทุกคนเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น ลดปัจจัยเสี่ยง ไม่กระทำความรุนแรงในทุกมิติ
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานสถานการณ์สงกรานต์ ปี 2565 ว่า พบการเดินทางเพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2564 มีผู้เสียชีวิต 278 คน เพิ่มขึ้นเพียง 1 คน จากปี 2564 ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิต ลดจาก 21.5% ในปี 2564 เหลือ 16.5% ในปี 2565 แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตคาที่เพิ่มขึ้นจาก 50 % เป็น 60 % ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที ส่วนผู้บาดเจ็บพบว่า 1 ใน 4 มีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด นอกจากนี้ข้อมูลกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ปี 2565 พบคดีเมาแล้วขับ เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ สูงถึง 7,141 คดี ปีนี้ สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันและลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง การละเมิดสิทธิ์ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้า 60 แห่ง เนื่องในวันสงกรานต์ปีนี้ สสส. ฝากทุกคนว่าดื่มไม่ขับ แค่กรึ่มๆ ก็ถึงตาย แม้เพียงแก้วเดียวก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ 2-6 เท่า และขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันลดความสูญเสีย
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาค มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 1,725 คน ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม เกี่ยวกับวันสงกรานต์ พบว่า 96.5 % เคยหรือมีคนรู้จักเคยถูกปะแป้ง 87.9 % ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมอง ทำให้อึดอัด 84.9% เกิดอุบัติเหตุ 82.4% ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 73.8% ทะเลาะกันในครอบครัว ส่วนวิธีแก้ปัญหาเมื่อถูกลวนลาม พบเลือกแจ้งความ 37% ตะโกนให้คนช่วย 20.2% บอกผู้ใหญ่ 11.5% ที่น่ากังวลคือมี 8.1% ไม่กล้าบอกใคร สำหรับหน่วยงานที่นึกถึง เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่ปลอดภัย คือ สถานีตำรวจ 55.5% ศูนย์แจ้งเหตุในพื้นที่เล่นน้ำ 20.9% เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 13.4% เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากให้คงไว้ในวันสงกรานต์คือ การเยี่ยมญาติ/รวมญาติ 29.9% เล่นน้ำปลอดภัยไม่รุนแรง 23.5% และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 18.2% สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลวนลามทางเพศ 35.5 % อุบัติเหตุ 22.5 % คนเมาขาดสติ การทะเลาะวิวาท การไม่เคารพสิทธิคนอื่น จึงขอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศ กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดแอลกอฮอล์ ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย
น.ส.วิริฒิพา ภักดีประสงค์ (วุ้นเส้น) นักแสดง พิธีกร กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศมีมาตลอดและเป็นปัญหาทั่วโลก ปัจจุบันยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะการคุกคามผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก ส่วนตัวก็เคยมีประสบการณ์ ช่วงที่ออก Event มีการแต่งกายหลายรูปแบบ รวมถึงแต่งกายเซ็กซี่ จะถูกแอบถ่ายในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม คนใกล้ตัวก็เคยโดน การป้องกันแก้ไข คือ ตำรวจลงโทษผู้ที่ละเมิดทางเพศผู้อื่น สถาบันครอบครัวต้องปลูกฝังจิตสำนึกทัศนคติที่ดีเรื่องเพศให้ลูกหลานตัวเอง สิ่งสำคัญอย่าโยนบาปให้ผู้หญิงว่าแต่งตัวให้มีความเสี่ยงเอง แต่ไม่ว่าจะแต่งแบบไหน แต่งเพราะแฮปปี้ที่จะแต่ง คนอื่นก็ไม่ควรคุกคามทางเพศ คนที่คุกคามผู้อื่นจึงเชื่อได้ว่ามีความผิด 100% เพราะการแต่งตัวของผู้หญิง ไม่ผิดอะไรเลย แม้จะแต่งตัวมิดชิดก็ยังถูกคุกคามได้ สงกรานต์ปีนี้รู้ว่าทุกคนอัดอั้นมานาน แต่ต้องมีสติ มีขอบเขต เคารพสิทธิ เนื้อตัวผู้อื่น เล่นแบบมีอารยะไม่เกินเลย
No comments:
Post a Comment