วช.หนุนศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสาน - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday, 10 April 2023

วช.หนุนศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสาน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้การสนับสนุนโครงการศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสาน อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นการนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำกินแบบครบวงจร จัดตั้งศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรง พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรง สร้างฐานข้อมูลศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้คนเลี้ยงชันโรงเสมือนจริงผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบนฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัดสงขลา นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.เป็นองค์กรของรัฐ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จำเป็นต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างช่องทางในการหารายได้จากหลายผลิตภัณฑ์ อย่างพื้นที่ในอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เกษตรกรได้จัดสรรพื้นที่สวนยาง เพื่อการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชสมุนไพร และการเลี้ยงชันโรง ส่งผลให้สามารถเก็บผลผลิตจากชันโรงออกจำหน่าย  สามารถชดเชยระดับราคาน้ำยางพาราที่ลดต่ำลง สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรแบบผสมผสานอีกด้วย    

ดร.ฉัตรธิดา หยูคง อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์( ฝ่ายมัธยมศึกษา )คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ทีมงานวิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกษตรทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยในด้านการเกษตร ซึ่งพื้นที่ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา นับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีเขียว เนื่องด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรสวนผลไม้ และสวนยางพาราตั้งอยู่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาและคลองบางกล่ำ ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากโรงงานอุตสาหกรรมและมลพิษ จึงถือเป็นต้นทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชนที่สำคัญ และสัมพันธ์โดยตรงต่อคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรและน้ำผึ้งชันโรง สามารถขับเคลื่อนการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรสามารถจัดสรรพื้นที่สวนยาง เพื่อการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชสมุนไพร และการเลี้ยงชันโรงออกจำหน่ายชดเชยรายได้ในช่วงราคายางหรือราคาพืชผลทางการเกษตรอื่นๆตกต่ำ 
















   

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages