เมื่อเร็วๆ นี้ ทางโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ได้มาจัดกิจกรรมที่ รร.วัดวังก์วิเวการาม, รร.วัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี และ รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียนดังกล่าวได้รับการอุปถัมภ์ดูแลโดยวัด และได้ใช้หลักบวร คือบ้าน, วัด และโรงเรียน มาปรับใช้ในด้านการศึกษาจนประสบความ สำเร็จ และเนื่องจากในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ก็จะเป็นวันวิสาขบูชา ทางโครงการฯ จึงขอนำแนวคิดจากท่านเจ้าอาวาสจากวัดดังกล่าวฯ มาเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางนำมาปรับใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับโรงเรียนต่างๆ ต่อไปในอนาคต
พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาส วัดวังก์วิเวการาม และเจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้กล่าวว่า “รร.วัดวังก์วิเวการาม เกิดขึ้นโดยพระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ) ที่ต้องการให้เด็กในชุมชนทางฝั่งมอญซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้รับการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเด็กเหล่านี้จะต้องเดินทางข้ามแม่น้ำเพื่อมาเรียนในฝั่งไทย เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะมีอันตรายมาก จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการเพื่อขอก่อสร้างเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา โดยใช้ที่ดินและการก่อสร้างโดยทางวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ส่วนทางศึกษาอำเภอเป็นผู้จัดหาครูมาสอนนักเรียน ซึ่งต่อมาได้เพิ่มการเรียนการสอนเป็นในระดับชั้น ม.1-3 ใช้ชื่อว่า รร.อุดมสิทธิศึกษา ด้านการเรียนการสอนในระยะแรกได้ส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทย ต่อมาจึงได้มีการสอนภาษาถิ่น (มอญ) เพื่อให้เด็กๆ ไม่ลืมชาติพันธุ์และเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยในทุกภาษานั้นจะมีปัญญาหรือเรื่องราวที่มีประโยชน์ซ่อนอยู่ หากเราไม่ศึกษาสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะสูญไปกับกาลเวลา นอกจากนี้ภาษาถิ่นยังสามารถใช้สื่อสารกับคนในชุมชน เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาในเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”
ด้าน พระครูสิทธิกิจจานุวัตร เจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า “ในอดีตวัดคือจุดศูนย์กลางของความเข้มแข็งในชุมชน พระจะต้องมีภูมิธรรม คือต้องมีคุณธรรม ยึดมั่นในศีลสมาธิปัญญา เป็นศูนย์หลักของความศรัทธาเชื่อถือที่สังคมยอมรับ และมีภูมิรู้ต่างๆ เช่น บริบทของสังคม, จิตวิทยาในการเรียนรู้และบริหาร ซึ่งรวมในถึงด้านการศึกษา โดยพระกาญจนวัตรวิบูล(หลวงพ่อสอน) และพระมงคลสิทธิคุณ (หลวงพ่อลำใย) อดีตท่านเจ้าอาวาสได้บริจาคพื้นที่และเป็นผู้ก่อสร้าง รร.วัดทุ่งลาดหญ้า ซึ่งเป็นโรงเรียนวัดแห่งแรกใน จ.กาญจนบุรี ทั้งนี้เพราะเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาที่เป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิต และช่วยยกตัวตนให้สังคมยอมรับ ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้พระและนักเรียนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และยังอุปถัมภ์ช่วยเหลือในสิ่งต่างๆ ที่สามารถทำได้ เมื่อเวลามีปัญหาอาตมาจะใช้หลักธรรมต่างๆ อาทิ อริยสัจ 4, สัมมาทิฐิ, จริต 6, ทาน ฯลฯ ในการแก้ไขปัญหา ด้านการเรียนการสอนมีการส่งเสริมให้ความรู้ทั้งในด้านวิชาการและคุณธรรมกับนักเรียน ภายใต้ความร่วมมือของครอบครัว ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความยากจน, การยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่พื้นที่ชนบท, ค่านิยมของพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเรียนในโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงอยากให้ทุกภาคส่วนหันมาสนใจในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนเป็นหลัก เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเหลือตัวเองและประเทศชาติต่อไปในอนาคต”
และสุดท้ายคือ พระสมุห์สมคิด ติกฺขปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จ.ลำพูน ได้กล่าวว่า “ทางวัดมีความสัมพันธ์กับ รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน มาเป็นเวลาช้านาน เนื่องจากครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือหลวงปู่ครูบาวงศ์ อดีตท่านเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโรงเรียน ได้มีความประสงค์ให้นักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ได้รับการศึกษา โดยได้สนับสนุนให้มีการสอนทั้งในโรงเรียนปริยัติธรรมและฆราวาส คำว่า “บวร” คือความร่วมมือของบ้านวัดโรงเรียน เมื่อทางโรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆ ทางวัดฯ ก็จะให้ความร่วมมือสนับสนุน โดยการส่งพระภิกษุเดินทางไปให้ความรู้ กับนักเรียน ซึ่งนอกจากความรู้แล้วยังมีการสอนในเรื่องคุณธรรม ซึ่งจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
สำหรับโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จัดขึ้นโดยมูลนิธิเอเชีย และเหล่าพันธมิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระ ตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยในปี 2566 จะนำเสนอในประเด็นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 062-7341267
No comments:
Post a Comment