วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” โดยมี นายอภิเษก หงษ์วิทยากร และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการฯ ณ สถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และสถานีตำรวจภูธรก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน
นายอภิเษก หงษ์วิทยากร แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม แก่คณะนักวิจัย ม.ศิลปากร ในการดำเนินโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบการตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้กล้องความละเอียดสูง ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่เปรียบเสมือน “ดวงตา” ที่คอยจับตามองหาควันไฟจากทุกทิศทาง สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์โหนดเซ็นเซอร์จากโครงการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ ที่เปรียบเหมือน “จมูก” ที่คอยจับกลิ่นควันไฟแล้วระบุพิกัด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 ชุด กระจายทั่วทั้งบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งมี รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว
โดยการใช้ตรวจจับควันเพื่อให้เจ้าหน้าที่จากสถานีควบคุมไฟป่าสามารถใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยสามารถแสดงผลและแจ้งเตือนได้ในแผนที่ (Map visualization) ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมบูรณาการข้อมูลและสารสนเทศและให้บริการกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้และบำรุงรักษาระบบต้นแบบแก่บุคลากรของสถานีควบคุมไฟป่า ตลอดจนชุมชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการตรวจจับไฟป่าและการควบคุมไฟป่า
นายอภิเษก หงษ์วิทยากร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า “จากข้อมูลการเกิดไฟป่าทางภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการจำนวนการเกิดไฟป่าสูง โดยเฉพาะในปี 2563 พบว่ามีจำนวนไฟป่าของทั้งสองจังหวัดรวมกันเป็นจำนวน 2,904 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.4 ของการเกิดไฟป่าในภาคเหนือ โดยมีพื้นที่ถูกไฟไหม้รวมกว่า 115,433 ไร่ นอกจากนี้ พื้นที่ทั้งสองจังหวัดยังถูกระบุเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ที่เป็นพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำากในระยะเวลา 22 ปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟป่าไม่เพียงจะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพของประชาชนด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการไฟป่าด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการทำงานทั้งกระบวนการตั้งแต่การป้องกัน การกู้ภัย และควบคุม ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการตรวจจับไฟป่าแบบบูรณาการ สำหรับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนสามารถเข้าถึงสารสนเทศและสามารถกู้ภัย ควบคุมไฟป่าตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดับไฟป่า และจำกัดขอบเขตพื้นที่ไฟไหม้ได้”
No comments:
Post a Comment