สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนจากวัตถุดิบก๊าซชีวภาพจากบ่อขยะในชุมชนโดยผ่านกระบวนการเคมีความร้อนหลายกระบวนการ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานขนาดเล็กในชุมชน อย่างไม่มีข้อจำกัดในการกักเก็บพลังงาน และนำออกมาใช้เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยผ่านหอเซลล์เชื้อเพลิง และมีการทดสอบกระบวนการผลิตไฮโดรเจน ออกแบบและพัฒนาระบบการผลิต เพิ่มความบริสุทธิ์และกักเก็บไฮโดรเจนโดยใช้วัตถุดิบก๊าซชีวภาพจากบ่อขยะให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จากนั้นทำการทดสอบความน่าเชื่อถือในการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้วัตถุดิบก๊าซชีวภาพมีเทนจากบ่อขยะ (ทำการทดสอบระบบแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 50 ชั่วโมง ที่กำลังการผลิต 20 ลิตรต่อนาที) รวมถึงสร้างความพร้อมบุคลากรให้มีความรู้และเข้าใจในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนจนถึงการใช้งาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนอุตสาหกรรม หรือ ภาคการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมในการหาแหล่งพลังทดแทนเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งผลงานจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและต้นแบบสำหรับการทำความสะอาดก๊าซชีวภาพและการผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ ที่มีแหล่งที่มาจากบ่อขยะในชุมชน มาผ่านกระบวนการเพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งนอกจากเป็นการเสริมสร้างศักยภาพแหล่งพลังงานในชุมชนแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างคุณภาพที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมจากพลังงานชีวภาพอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า โครงการนี้ มจธ. ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกให้กับก๊าซชีวภาพจากบ่อขยะของประเทศไทย โดยก๊าซไฮโดรเจนที่ได้สามารถนำไปใช้ร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขั้นตอนกระบวนการผลิตหลักๆ จะประกอบไปด้วยการทำความสะอาดก๊าซชีวภาพเพื่อกำจัดสิ่งปฏิกูลจำพวกซัลเฟอร์และคาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนออก จากนั้นนำก๊าซที่ได้จากกระบวนการบำบัดไปเข้าสู่เครื่องปฏิกรณ์หลักเพื่อผลิตไฮโดรเจน โดยภายในจะทำการบรรจุตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีศักยภาพในการแตกสลาย Volatile Organic Compounds (VOCs) การแปรสภาพมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นไฮโดรเจน และการกำจัดคาร์บอนมอนอกไซด์เพื่อเพิ่มปริมาณไฮโดรเจนในผลิตภัณฑ์
ศาสตราจารย์ ดร.นวดล กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยนี้สามารถเพิ่มมูลค่าและทางเลือกในการใช้ก๊าซชีวภาพจากบ่อขยะเพื่อผลิตพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรองรับนโยบายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ของประเทศ โดยจะมีการขยายผลพัฒนาต่อยอดสร้างความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการนำระบบผลิตไฮโดรเจนดังกล่าวไปใช้ร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป
No comments:
Post a Comment