วันที่ 22 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการแถลงข่าว “ผลการสํารวจข้อมูล ด้านการวิจัย และพัฒนาของประเทศไทย ปี 2564 (รอบสํารวจข้อมูล ประจําปี 2565)" โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อํานวยการสํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว และมี นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหาร วช. ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี ชั้น 1 อาคาร วช. 1 สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2564 (รอบสำรวจปี 2565) ว่า ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งผลสำรวจการดำเนินงานด้าน R&D ในช่วงปี 2564 ที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับวิกฤตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GERD/GDP) ของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.21 (จากเดิม 1.33) โดยมีค่าใช้จ่าย R&D ในภาพรวมอยู่ที่ 195,570 ล้านบาท (จากเดิม 208,010 ล้านบาท) มีอัตราเติบโตลดลงร้อยละ 5.98 เป็นค่าใช้จ่าย R&D
ในภาคเอกชน 144,887 ล้านบาท (จากเดิม 141,706 ล้านบาท) และภาคอื่น ๆ (รัฐบาล,อุดมศึกษา, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) 50,683 ล้านบาท (จากเดิม 66,304 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 74 : 26 ซึ่งจะเห็นว่าการลงทุนด้าน R&D ในภาคเอกชนยังคงมีบทบาทหลักสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนค่าใช้จ่าย R&D ในภาคเอกชนเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.20 เป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต 67,809 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 21.50) ภาคอุตสาหกรรมการบริการ 62,640 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.50) และภาคอุตสาหกรรมค้าส่ง/ค้าปลีก 14,438 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.00) โดยมีค่าใช้จ่าย R&D ที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การลงทุนในนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร การคัดแยกพัสดุโดยใช้หุ่นยนต์แทนที่คน การปรับปรุงประสิทธิภาพของสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตให้มีความเสถียรในการใช้งานรองรับความต้องการผู้บริโภคที่มากขึ้น สำหรับภาคอุตสาหกรรมค้าส่ง/ค้าปลีก มีการวิจัยและพัฒนายา, วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น การพัฒนาสินค้าและกระบวนการเดิม รวมทั้งออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เมื่อจำแนกค่าใช้จ่ายตามขนาดอุตสาหกรรม พบว่า เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 133,765 ล้านบาท (ร้อยละ 92.32 ) อุตสาหกรรมขนาดกลาง 6,489 ล้านบาท (ร้อยละ4.48) และอุตสาหกรรมขนาดย่อม 4,633 ล้านบาท (ร้อยละ3.20) เมื่อจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนด้าน R&D สูงสุดคือ อุตสาหกรรมอาหาร 26,152 ล้านบาท เป็นลำดับแรก และอุตสาหกรรมไปรษณีย์และโทรคมนาคม 18,778 ล้านบาท และอุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา 14,917 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยปี 2564 ในภาพรวมมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบรายหัว) 236,915 คน (ลดลงร้อยละ 4.96) และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา (Full-time equivalent: FTE) 161,212 คน-ปี (ลดลงร้อยละ 4.28) โดยบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) จำแนกเป็นนักวิจัย 121,588 คน-ปี (ร้อยละ 75.42) ผู้ช่วยนักวิจัย 24,550 คน-ปี (ร้อยละ 15.23) และผู้ทำงานสนับสนุน 15,074 คน-ปี (ร้อยละ 9.35) คิดเป็นสัดส่วนบุคลากร R&D (แบบ FTE) ต่อประชากร 10,000 คน อยู่ที่ 24 คน-ปี โดยอยู่ในภาคเอกชน 114,928 คน-ปี และภาคอื่น ๆ 46,284 คน-ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา(แบบ FTE) ของภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 71:29
ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อํานวยการสํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ด้านนวัตกรรมของภาคเอกชน ว่าจะขับเคลื่อนประเทศด้วย อววน. โดยมีเป้าประสงค์ ดังนี้ 1. ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จะยกระดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ ด้านการศึกษาและความยั่งยืนทางสังคมให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูง (กลุ่ม Top Third -very high human development) และเพิ่ม eco-efficiency จากการลดการใช้ทรัพยากร (Green) และการเกิดของเสีย (Circular) 5% ต่อไป 2. เศรษฐกิจและฐานราก จะลดจำนวนคนใต้เส้นความยากจนจาก 4.3 ล้านคน ให้เหลือน้อยกว่า 1 ล้านคน โดยเพิ่มรายได้ครัวเรือนเกษตร 5 ล้านครัวเรือน ให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท/ปี และดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development Index: IDI) เพิ่มขึ้นจาก 4.3 เป็น 4.5 คะแนน และ 3. ด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม จะเพิ่ม GERD 2% ต่อ GDP (370,000 ล้านบาท) มีบริษัทธุรกิจฐานนวัตกรรม (มียอดขาย 1 ล้านล้านบาท) และมี 5 บริษัท ใน Fortune Global 500 Biggest Company
ส่วนเรื่องระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิด Innovation Driven Enterprise (IDE) มุ่งเน้น 1) การสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDE) ทั้งจำนวนและคุณภาพ ให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และ2) พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ สำหรับมาตรการและกลไกสนับสนุน Innovation Ecosystem ประกอบด้วย 1) มาตรการสนับสนุนทางการเงิน เช่น การมี Scheme การให้ทุนที่มีประสิทธิภาพ 2) สร้างแรงจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น Tax 300% 3) การสร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยและ นวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของประเทศรวมถึงให้มีผู้จัดการนวัตกรรมเพื่อเชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ภาคเอกชน 4) ปลดล๊อกข้อจำกัดอำนวยความสะดวกในการ สร้างนวัตกรรม เช่น TriupAct, การตั้ง Holding Company 5) สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงผลงานวิจัยไป ใช้ประโยชน์ ไปสู่ตลาด เช่น Intermediary Body, อุทยานวิทยาศาสตร์, พื้นที่นวัตกรรมและ 6) ส่งเสริมให้เกิดกลไกตลาดนวัตกรรม เช่น บัญชี นวัตกรรม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการ ลงทุนของนักลงทุนเอกชน (VC) เป็นต้น
ตัวอย่างมาตรการที่ดำเนินการโดย กระทรวง อว. อาทิ พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 คือ หน่วยงานรัฐที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมไปยังผู้รับทุน ต้องมอบความเป็นเจ้าของให้แก่ผู้รับทุน เมื่อได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว ต้องใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี หรือระยะเวลาอื่นที่กฎหมายกำหนด การใช้ประโยชน์ เช่น การต่อยอดและพัฒนาผลงานวิจัย, การ license ไปยังภาคการผลิต และการลงทุนร่วมกับบริษัทเอกชน ซึ่งใช้มาตรการส่งเสริมผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมาย และมาตรการ Thailand Plus Package ด้วย
No comments:
Post a Comment