อว. สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 21 June 2023

อว. สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน”

อว. สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” สู่ วงซิมโฟนีออร์เคสตรา ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดง “เพลงไทยทางเปลี่ยน” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. นายสัมพันธ์  เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.อว. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมคณะผู้บริหาร อว. และประชาชนร่วมงาน ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะดนตรีจากโครงการพื้นที่ทางนวัตกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่ ดำเนินการ โดย ศ.ดร.สุกรี เจริญสุข มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เป็นปีที่ 3 เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรม สร้างจินตนาการเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” พื้นที่ทางนวัตกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่ ผ่านวงซิมโฟนีออร์เคสตรา และวงดนตรีไทย วงปี่พาทย์

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า กระทรวง อว.ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับอาจารย์สุกรี ผ่าน วช. เพื่อไปทำการศึกษาวิจัยเพลงพื้นบ้าน ทำให้ทราบว่าแต่ละจังหวัดของประเทศไทยมีเพลงพื้นบ้านทุกจังหวัด บางจังหวัดมีเป็นพัน ๆ เพลง แต่ตอนนี้เพลงพื้นบ้านกำลังจะสูญหาย ที่มีอยู่และถูกนำมาร้องเป็นเพลงท่วงทำนองใหม่มีไม่มากนัก จึงอยากสนับสนุนอาจารย์สุกรี ทำวิจัยเพลงพื้นบ้าน เรียบเรียงทำนองผสมผสานกันผ่านวงซิมโฟนีออร์เคสตรา 

 

รมว.อว. กล่าวต่อว่า อว. มีหน้าที่บริหารระบบวิจัย และยังมีหน้าที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ เศรษฐกิจที่ใช้กับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เรื่องที่ 2 ต้องสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงเศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยว เศรษฐกิจที่อิงอยู่บนศิลปะสุนทรียะ อว. ตระหนักถึงความเป็นไทย ในโลกทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากความเป็นไทยเมื่อหลาย 10 ปี ก่อน ซึ่งตัวผมเองตอนเด็ก ๆ ผมรู้ว่าความเป็นไทยจะหายไป รู้สึกเสียใจ และเสียดาย จึงตัดพ้อว่าทำไมคนปัจจุบันไม่สนใจเพลงที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา เคยขับร้อง เคยเล่นดนตรี สืบทอดกันมา เวลาทำก็รู้สึกค่อนข้างท้อแท้ กลัวว่ามันจะหายไปพร้อมกับความเป็นตะวันตกที่เข้ามาแทน แต่ปัจจุบันความเป็นไทยไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ทุกวันนี้ความเป็นไทยกลายเป็นอะไรที่น่าพิศวง เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก


และขณะนี้ ประเทศไทยเป็นเมืองที่ทั่วโลกอยากจะเดินทางมาเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเนื่องจากอุปนิสัยใจคอของคนไทยได้รับการยกย่องชมเชยจากทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการวิชาการก็บอกว่าอยากจะมาทำการวิจัยที่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยน่าอยู่ อาหารไทยก็เป็นที่ชื่นชอบ สปาสมุนไพรและนวดไทยก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติชอบ ผมจึงคิดว่าดนตรีไทยก็มีศักยภาพที่เป็นดนตรีระดับโลกได้เช่นเดียวกัน ผมมีความเชื่อว่า ความเป็นไทยมีความลึกซึ้ง มีเอกภาพ เอกลักษณ์ไม่เหมือนกับประเทศอื่น ผมคิดแบบนี้ จึงสนับสนุนอาจารย์สุกรี เพราะท่านไม่ได้ทำวิจัยเพื่อวิจัยแต่ทำเพราะใจรัก และมีความลุ่มหลงดนตรี มีความศรัทธาต่อดนตรีมากที่สุด 

ทั้งนี้ การแสดงเพลงไทยทางเปลี่ยน เป็นการเล่นดนตรีเปลี่ยนทางไปจากทางเดิม ในขณะที่เพลงและเครื่องดนตรีอื่นในวงก็ยังคงดำเนินการบรรเลงต่อไปในแนวทางเดิม นักดนตรีที่เดี่ยวเครื่องดนตรีที่เล่นทางเปลี่ยน อาจจะเล่นคนเดียวหรือจะเล่นทางเปลี่ยนกันทั้งวงก็เป็นได้ การสร้างเสียงใหม่ในครั้งนี้ ได้เรียบเรียงบทเพลงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ดร.ปิยะวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ โดยนำเพลงพื้นบ้านภาคกลางของไทย ซึ่งสืบทอดและสั่งสมกันมาหลายร้อยปี มาแสดงออกในรูปแบบของวงปี่พาทย์ร่วมกับทางวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อจะเปลี่ยนวิธีนำเสนอเพลงในโอกาสต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเปลี่ยนของดนตรีเพื่อดนตรีในโลกอนาคต


เพลงไทยทางเปลี่ยน ที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย เพลงสาธุการ เพลงกราวใน ทางจะเข้ เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เพลง Rong-Ngang Suite เพลงสังกะอู้ เพลงบินหลาบอง เกาะลิบง เพลงชเวดากอง เพลงพัดชา เพลงหัวใจกลับสู่ร่าง (กราวใน) เพลงอะไยจ๊ะกร้าบ เพลงแอกแครง เพลงแฮปปียา นอกจากนี้ ยังมีการขับร้องเพลงชมหมู่ไม้ เพลงมะนาวไม่มีน้ำ และเพลงสุขกันเถอะเรา จากวงปล่อยแก่ วช. ซึ่งระหว่างการบรรเลงเพลง ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลงการแสดงดนตรี ด้วย







No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages