การเปลี่ยนผ่านเส้นทางชีวิตของผู้สูงวัยสู่ที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน ด้วยแนวคิดสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม (aging in place) - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Tuesday, 11 July 2023

การเปลี่ยนผ่านเส้นทางชีวิตของผู้สูงวัยสู่ที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน ด้วยแนวคิดสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม (aging in place)

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี 

อาจารย์สถาบันประชากรวิจัยประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ 

อาจารย์วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ผู้สูงอายุหลายรายมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่จากบ้านที่คุ้นเคยไปสู่ที่พักในลักษณะของที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน เช่น สถานสงเคราะห์ สถานดูแล ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ นับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในเส้นทางชีวิตของผู้สูงอายุ ด้วยเพราะ “ความผูกพัน” และ “ความหมาย” ของสถานที่ที่มีต่อตัวผู้สูงอายุทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม “สถานที่” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผู้สูงวัยทั้งในทางส่งเสริมหรือทำลายคุณภาพชีวิต ในการพัฒนาสถานที่สำหรับผู้สูงอายุให้น่าอยู่ “เหมือนได้อยู่บ้าน” หรือ “ได้อยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม” จึงเป็นความท้าทายและไม่อาจดำเนินการด้วยการพัฒนาที่มีรูปแบบเดียว (one size will not fit all) สังคมจะรับมือต่อสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างไร

การศึกษาวิจัย เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านเส้นทางชีวิตของผู้สูงวัยสู่ที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน ด้วยแนวคิดสูงวัย ในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม” เพื่อจัดกระบวนการสร้างความรู้ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยเน้นการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้แนวคิดสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม (aging in place) ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนงานการสร้างและจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบรองรับผู้สูงอายุ ผู้วิจัยได้สังเคราะห์ข้อค้นพบจากการใช้ประโยชน์ความรู้ในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกระบวนการสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายเรื่องการสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมโดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 

ขั้นตอนการดำเนินการในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วยการสำรวจความคิดเห็นข้อมูลเบื้องต้น การออกแบบกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2564 วิทยากรกระบวนการด้านสถาปัตยกรรมชุมชน จากบริษัท ครอสแอนด์ เฟรนด์ จำกัด ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น จากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ผู้กำหนดนโยบายระดับจังหวัด ผู้ปฏิบัติการ อาทิ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รองนายกฯ และปลัด อบจ. ผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อำนวยการกองแผนและนโยบาย ฝ่ายงบประมาณ ผู้อำนวยการกองกายภาพ ผู้อำนวยการและผู้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์ฯ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด พี่เลี้ยง แม่ครัว แม่บ้าน คนสวน เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคาร  และผู้สูงอายุ

จากสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในการรับมือกับประเด็นด้านที่อยู่อาศัย ในต่างประเทศเริ่มมีนโยบายระดับชาติในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้สูงวัยในสถานที่เดิม โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้อาศัยในบ้านหรือละแวกใกล้เคียงเพื่อเป็นการสร้างเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ ตลอดจนชะลอการเข้ารับการรักษาในสถานดูแลระยะยาว และช่วยลดต้นทุนการดูแลสุขภาพ (Lui et al., 2009; Wiles et al., 2012) 

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงสามารถที่จะอยู่อาศัยในถิ่นที่ตนเองเคยอยู่ แต่ผู้สูงอายุหลายรายก็ยังมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่จากบ้านที่คุ้นเคยไปสู่ที่พักในลักษณะของสถานสงเคราะห์ หรือสถานดูแล ด้วยสาเหตุในหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งในช่วงเวลานี้ นับเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัย เพราะหากอ้างอิงตามหลักทฤษฎีเส้นทางชีวิต (life course theory) เส้นทางชีวิต (life course) ของแต่ละบุคคลจะมีความเชื่อมโยงกับบริบททางโครงสร้างสังคมและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากสังคมที่บุคคลนั้นเติบโตมา การดำเนินชีวิตจึงเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนผ่านของชีวิต (transition of life) ของมนุษย์ทุกคนจึงเป็นจุดสำคัญเพราะเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบก็จะส่งผลต่อชีวิตของคน ๆ นั้นในช่วงชีวิตถัดไป การเปลี่ยนสถานที่อยู่อาศัยจึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงชีวิตของผู้สูงอายุ เพราะสถานที่มีความหมายต่อผู้สูงอายุทั้งในเชิงของบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Buffel et al., 2012) 

ในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีรายได้ ไร้ที่พึ่งพิง และไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ เริ่มดำเนินการในรูปแบบของบริการสังคมที่รัฐจัดให้ในลักษณะของสถานพักพิง (shelter) สถานรับเลี้ยงดู (asylum) ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 25 แห่ง โดย 12 แห่ง อยู่ในการกำกับดูแลของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ” และอีก 13 แห่ง ยังคงใช้ชื่อ “สถานสงเคราะห์คนชรา” ปี พ.ศ.2546-2548  โดยได้รับการถ่ายโอนไปอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมกับศูนย์บริการผู้สูงอายุอีก 2 แห่ง (วันทนีย์ วาสิกะสิน และคณะ, 2537) ปัจจุบันสถานสงเคราะห์ฯ สามารถให้บริการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้และไร้ที่พึ่ง ประมาณแห่งละ 150-200 คน ซึ่งรวมแล้วทั้งหมดจะสามารถดูแลผู้สูงอายุตามเงื่อนไขที่กำหนดได้สูงสุดเพียงประมาณ 4-5 พันคนเท่านั้น (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2562) ในขณะที่ ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ มีจำนวนมากกว่า 3.8 ล้านคน (กรมกิจการผู้สูงอายุ, 2561) จากรายงานการสำรวจและรายงานการคาดประมาณความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของประชากรอายุ 55 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้น้อยและต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ในปี 2564 พบว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรที่อยู่คนเดียวและไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย อย่างน้อยประมาณ 20 เท่าของบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน (สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล และคณะ, 2564) 

ในการศึกษาครั้งนี้ ผลจากกระบวนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม พบปัญหาที่สำคัญของการจัดบริการสถานสงเคราะห์ฯ ดังนี้ ปัญหาด้านบุคลากร ทั้งในด้านปริมาณและด้านคุณภาพ กล่าวคือ ในด้านจำนวนบุคลากร ที่ผู้ปฏิบัติงานสะท้อนว่าไม่เพียงพอ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุทุกคนที่มีปัญหาซับซ้อนได้โดยเฉพาะเมื่อผู้สูงอายุเริ่มมีสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งส่งผลให้บุคลากรแต่ละคนรับภาระงานหนักและได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ยังขาดบุคลากรวิชาชีพเฉพาะบางตำแหน่งที่มีความจำเป็น เช่น นักจิตวิทยา ในการดูแลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางลบของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุบางรายมีอาการทางจิตเวช หรือผู้ป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งอาการป่วยดังกล่าว มีความจำเป็นที่ต้องมีบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทางมาสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งสถานสงเคราะห์ในหลายแห่งไม่มี แม้จะมีข้อกำหนดของคุณสมบัติในการรับแล้วก็ตาม แต่อาการดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นในภายหลังเมื่อผู้สูงอายุเข้าพักแล้ว และบ่อยครั้งที่พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ พี่เลี้ยง และผู้สูงอายุที่พักอาศัย ได้รับผลกระทบจากผู้สูงอายุที่มีอาการทางจิตเวชและใช้ความรุนแรงโดยไม่มีแนวทางในการป้องกันอย่างเป็นระบบ

ปัญหาด้านสถานที่ สถานสงเคราะห์ฯ เกือบทุกแห่งสร้างมาเป็นเวลากว่า 30 ปี อาคารบางหลังเก่าชำรุด ไม่มีความปลอดภัย และไม่ได้ถูกออกแบบตามลักษณะการใช้งานของผู้สูงอายุและบุคลากรที่อยู่ในสถานสงเคราะห์สำหรับสอดส่องดูแลด้านความปลอดภัย และด้วยสถานการณ์ที่มีผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้น บางคนเริ่มมีอาการทางสมอง และมีปัญหาทางจิต เช่น ผู้ป่วยทางจิตที่เข้าสู่วัย 60 ปี ถูกส่งเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ เพิ่มมากขึ้น แต่สถานสงเคราะห์ฯ ไม่มีห้องหรืออาคารแยกกลุ่มสำหรับผู้มีปัญหาเหล่านี้ โดยทั่วไปจะจัดให้อยู่รวมกับผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยทั้งผู้สูงอายุเองและผู้ดูแล

ปัญหาด้านการบริหารจัดการ สถานสงเคราะห์ฯที่เป็นบริการภาครัฐ สำหรับผู้สูงอายุที่ไร้ที่พักพิง สถานสงเคราะห์ฯ จึงเสมือนเป็นที่พึ่งสุดท้ายสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มนี้และครอบครัว แม้ในปัจจุบันภายหลังการถ่ายโอนฯ มีแนวโน้มที่ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ มีการพัฒนาบริการผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทางกาย จิตใจ สภาพแวดล้อม กิจกรรมทางสังคมและการมีส่วนร่วม และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนบางแห่งมีการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแล สามารถจัดการด้านงบประมาณการใช้จ่ายได้ แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่ยังขาดความตระหนัก ในการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ ซึ่งส่งผลให้บุคลากรต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหาสิ่งสนับสนุนอื่น ๆ นอกเหนือทรัพยากรที่มีอยู่ จนอาจนำไปสู่การขาดแรงจูงใจในการทำงาน

ปัญหาการให้บริการอื่นๆ เนื่องด้วยอาคาร สถานที่ บุคลากร ที่มีอยู่สามารถรองรับผู้สูงอายุได้อย่างจำกัด ในขณะที่มีผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และรอที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ปัญหาจึงเป็นเรื่องของการไม่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการหาที่อยู่ที่ปลอดภัยได้อย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นควรได้รับความช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง ยังขาดโอกาสในการเข้าอยู่อาศัยในสถานสงเคราะห์ฯ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ รวมถึงเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย เป็นต้น


และสุดท้ายเป็น ปัญหาระบบฐานข้อมูล เนื่องจากการจัดบริการเชิงสถาบันต้องให้บริการดูแลต่อเนื่องและจำเป็นต้องให้บริการร่วมหรือมีการส่งต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น เช่น บริการด้านสุขภาพ แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ระบบฐานข้อมูลของสถานสงเคราะห์ไม่มีความเชื่อมโยงกัน และขาดการทำให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ซึ่งการปรับข้อมูลให้ตรงกันมีความสำคัญในการรับผู้สูงอายุเข้า และส่งต่อผู้สูงอายุเพื่อรับบริการสังคมและสุขภาพนอกสถานสงเคราะห์ฯ


ในการประยุกต์ใช้แนวคิดการสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมนี้หัวใจหลักของแนวคิดคือการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยและให้ผู้บริการที่เป็นมิตร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ให้ความรู้สึก มีอิสระ เป็นส่วนตัว ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจการสูงอายุและความจำเป็นที่แท้จริง 

โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ 

1) Autonomy: ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเป้าหมายที่กําลังสูงวัย มีสิทธิ์ที่จะเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมให้กับตัวเอง ซึ่งสามารถหมายความถึงสิทธิ์ในการเลือกและสิทธิ์ในการร่วมออกแบบได้ด้วย 

2) Environment: มีสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ เช่น การควบคุมสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมกับความเป็นไปในเชิงกายภาพ สภาพแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรและปลอดภัย การมีสี กลิ่น และทัศนียภาพที่ปลอดโปร่งเหมาะสม และเกื้อกูลต่ออารมณ์ 

3) Support & Service: มีสิ่งอํานวยความสะดวกสนับสนุนสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ เช่น ในการเคลื่อนที่ เครื่องมือการให้ข้อมูลสำคัญ เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร เทคโนโลยีทางชีวภาพ องค์ประกอบทางกายภาพที่สนับสนุนการใช้ชีวิตให้สะดวกและปลอดภัย เช่น ราวจับขึ้นลงบันได และการเข้าถึงของผู้ดูแลสนับสนุน (Human Support Service) 

4) Social: ความเหมาะสมทางสังคม หรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่กลุ่มเป้าหมายได้รู้สึกว่ามีตัวตนและอยู่อย่างมีเกียรติ ได้ใช้ชีวิตตามความเหมาะสม และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีการสนับสนุนจากสังคมไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากบุคลากรวิชาชีพ หรืออย่างไม่เป็นทางการ เช่น คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน กลุ่มเพื่อน และชุมชน


ในการพัฒนาสถานสงเคราะห์ฯ โดยใช้แนวคิดสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม (aging in place) ทีมวิจัยได้ข้อสรุปเป็นแนวทางการจัดการ ที่มีความเป็นไปได้ ดังนี้

  • การจัดการหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านหรืออาคาร หมายรวมถึงการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัย ‘ชุมชนจัดตั้ง’ ให้สถานสงเคราะห์ฯ เป็นทั้งบ้าน และชุมชนของที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ 

  • การพัฒนาพื้นที่ สถานสงเคราะห์ เป็นต้นแบบเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ นําไปสู่การพัฒนาเมืองนครสวรรค์เป็นเมืองที่เป็นมิตร (Friendly) ต่อ ผู้สูงอายุ

  • การค้นหาความเป็นไปได้ของโครงการระยะสั้น ที่จัดการปัญหาประเด็นที่มีอยู่เดิม และต่อยอดไปสู่โครงการระยะกลาง และระยะยาว

การศึกษานี้มีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่นโยบายในภาพรวม สำหรับสถานสงเคราะห์ฯ ที่อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ 

  1. นโยบายการเพิ่มอัตราบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ: ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรพิจารณาเพิ่มอัตราบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะเช่น ผู้ดูแลและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อรับมือการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพกายและจิต อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาให้อยู่ในขอบเขตภารกิจสถานสงเคราะห์ เนื่องจากการบริการสถานสงเคราะห์และบริการแบบสถานพยาบาลมีมาตรฐานการดำเนินการที่แตกต่างกัน 

  2. นโยบายการปรับปรุงพื้นที่อาคารเก่า เพื่อส่งเสริมเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์: ควรเพิ่มการพัฒนารูปแบบบริการตามความจำเป็น และจำนวนห้องพักสำหรับผู้อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่เข้ามาใหม่ ที่รวมถึงการเพิ่มงบประมาณดำเนินการ และส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งภายในและภายนอกอาคารเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุมีความแตกต่างที่สำคัญในด้านลักษณะส่วนบุคคล ประสบการณ์ในชีวิต ผลลัพธ์ทางสุขภาพ รวมทั้งสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในบั้นปลายที่แตกต่างกัน การพัฒนาสถานสงเคราะห์ฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ควรเป็นเพียงการตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้าแต่เพียงเท่านั้น แต่ควรเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับสถานการณ์อนาคตและสอดคล้องกับบริบทความจำเป็นในพื้นที่ทั้งเชิงประชากรและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และควรเป็นการพัฒนาสถานที่ที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ “เหมือนได้อยู่บ้าน” หรือ “ได้อยู่ในถิ่นเดิม”





No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages