โรคไม่ติดต่อเรื้องรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุให้ประชากรไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 320,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด การบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วน และนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ข้างต้น องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำว่า การขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง จะสามารถช่วยลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ อีกทั้ง มาตรการนี้ ยังเป็นการบังคับใช้กฎหมายในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากปริมาณน้ำตาล สำหรับสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง (รูป 1) เพื่อหวังว่าประชาชนทุกเพศและทุกวัย จะซื้อและบริโภคเครื่องดื่มดังกล่าวลดลง อาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญของมาตราการดังกล่าวนั้น คือ การทำให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนยาวขึ้น จึงนำมาสู่การศึกษาผลกระทบทางสุขภาพของประชากรไทยจากมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนา หันจางสิทธิ์ พร้อมทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาวิจัย เรื่อง ภาษีความหวาน: การเก็บภาษีเพื่อสุขภาพของคนไทย เพื่อคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และผู้เสียชีวิตที่ป้องกันได้ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้อง 3 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งคาดประมาณจำนวนปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้นของประชากรไทย และคาดประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่ลดลงเมื่อมีการจัดเก็บภาษีฯ
รูป 1 การจัดเก็บภาษีตามประเภทเครื่องดื่ม ตามมูลค่า และตามปริมาณน้ำตาล
ที่มา: กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ
กฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2564
ผลการศึกษาการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง การคาดประมาณแนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง (ลิตร/วัน/คน) ระหว่างปีที่ดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีฯ รอบที่ 1 (2562) และเมื่อดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีฯ จนถึงรอบที่ 4 (2568) พบว่า แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง มีปริมาณลดลงในทุกกลุ่มประเภทเครื่องดื่ม ทั้งในเพศชายและเพศหญิง และทุกกลุ่มอายุ โดยผู้ชาย บริโภคลดลงมากที่สุดในกลุ่มอายุ 20 – 24 ปี (5.9%) ในขณะที่ผู้หญิง บริโภคลดลงมากที่สุดในกลุ่มอายุ 25 – 29 ปี (5.8%) (รูป 2)
รูป 2 ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง (ลิตร/วัน/คน) ในปี 2562 และ 2568 แยกรายเพศ และกลุ่มอายุ
จำนวนผู้ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 1 และระดับที่ 2 เมื่อดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีฯ จนถึงรอบที่ 4 (2568) จำนวนผู้ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 1 (BMI 25 ถึง <30 กิโลกรัม/เมตร2) และระดับที่ 2 (BMI ≥30 กิโลกรัม/เมตร2) มีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มอายุทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยเพศชายมีแนวโน้มลดลงมากกว่าเพศหญิง ผู้ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 1 เพศชาย มีจำนวนลดลง 469,614 คน (5.4%) และเพศหญิง ลดลง 207,203 คน (2.2%) โดยกลุ่มอายุ 25 – 29 ปี ลดลงมากที่สุดทั้งเพศชาย (10.4%) และเพศหญิง (5.4%) ในขณะที่ผู้ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 2 เพศชาย มีจำนวนลดลง 224,194 คน (10.9%) และเพศหญิงลดลง 331,332 คน (6.6%) โดยกลุ่มอายุ 25 – 29 ปี ลดลงมากที่สุด ทั้งเพศชาย (22.0%) และเพศหญิง (12.9%) (รูป 3)
รูป 3 จำนวนผู้ที่มีภาวะอ้วนระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ในปี 2562 และ 2568 แยกรายเพศ และกลุ่มอายุ
จำนวนผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตที่ป้องกันได้ หากดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีฯ จนถึงรอบที่ 4 (2568) ค่าคาดประมาณผู้ป่วยรายใหม่ที่ป้องกันได้นำเสนอตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข ระยะ 20 ปี (2560 – 2579) โดยระยะที่ 4 (ปี 2579) จะป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ 20,852 คน โรคหัวใจขาดเลือดได้ 1,980 คน และโรคหลอดเลือดสมองได้ 1,174 คน (รูป 4) และจำนวนผู้เสียชีวิตที่ป้องกันได้ จากโรคเบาหวาน 624 คน โรคหัวใจขาดเลือด 493 คน และโรคหลอดเลือดสมอง 138 คน (รูป 5)
รูป 4 จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ (คน) ที่ป้องกันได้ ปี 2579 จากโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
รูป 5 จำนวนผู้เสียชีวิตที่ป้องกันได้ ปี 2579 จากโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
จำนวนปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้นตลอดชีพ ค่าคาดประมาณจำนวนปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้นของประชากรไทย เมื่อดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีฯ จนถึงรอบที่ 4 (2568) รวมทั้งสิ้น 1,894,694 ปี แยกเป็นเพศหญิง 978,801 ปี และเพศชาย 915,893 ปี ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ลดลง เมื่อดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีฯ จนถึงรอบที่ 4 (2568) ค่าคาดประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพโดยรวม ของโรคที่เกี่ยวข้องกับการมีดัชนีมวลกายสูงจะลดลงในปี 2579 ประมาณ 121.4 ล้านบาท
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนา ได้ฝากข้อเสนอแนะว่า จากที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ชะลอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในรอบที่ 3 ถึง 2 ครั้ง เพื่อเยียวยาผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งที่ 1 ชะลอการจัดเก็บภาษีฯ จาก 1 ตุลาคม 2564 เป็น 1 ตุลาคม 2565 และครั้งที่ 2 จาก 1 ตุลาคม 2565 เป็น 1 เมษายน 2566 ดังนั้น เพื่อสุขภาพของประชากรไทยที่ดีถ้วนหน้า กรมสรรพสามิตควรพิจารณา ไม่ชะลอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงอีก โดยดำเนินการให้ครบจนถึงรอบที่ 4 อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องลดลง รวมถึงภาครัฐยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคอีกด้วย
No comments:
Post a Comment