รูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรไม่ได้มีความหมายแต่เพียงว่าในครัวเรือนมีใคร จำนวนเท่าใดที่อยู่ร่วมครัวเรือนเดียวกัน แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และการสนับสนุนข้ามรุ่นอายุ (Inter-generational support) ภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นทรัพยากรเชิงครอบครัว (familial resources) ที่สำคัญ ในระยะเวลาราว 10 ปีที่ผ่านมา รูปแบบครัวเรือนไทยมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่มีความเปราะบางขึ้น เช่น การมีครัวเรือนคนเดียวที่มีสัดส่วนสูงขึ้นในช่วงวัยกลางคน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มจำนวนครัวเรือนคนเดียวในช่วงบั้นปลายของชีวิตซึ่งมีความเปราะบางสูงเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนและการดูแลจากสมาชิกในครัวเรือนเหมือนกับรูปแบบการอยู่อาศัยแบบอื่น หรือการที่พบแนวโน้มของครัวเรือนสามีภรรยา ที่ไม่ได้อาศัยกับลูกเพิ่มมากขึ้นในช่วงวัยกลางคน ที่จะมีความเปราะบางมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนข้ามรุ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันของพ่อแม่และลูก
รองศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิดา ชวนวัน พร้อมทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษา วิจัยเรื่องรูปแบบการอยู่อาศัยในแต่ละช่วงชีวิตของประชากรไทย (Living arrangements over the life course of Thai population) เพื่อศึกษาสถานการณ์รูปแบบการอยู่อาศัยในแต่ละช่วงชีวิตของประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยศึกษาประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป ใน 2 ช่วงเวลา คือ ในอดีตเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน และปัจจุบันในปี 2566 ได้ทำการศึกษารูปแบบการอยู่อาศัยในแต่ละช่วงชีวิตของประชากรอายุ 15 ปีขึ้น แบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่
1.ครัวเรือนคนเดียว คือ ครัวเรือนที่วัยแรงงานหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว
2.ครัวเรือนสามีภรรยา คือ ครัวเรือนที่ วัยแรงงานหรือวัยสูงอายุอาศัยอยู่กับคู่สมรสเท่านั้น โดยอาจจะมีลูกหรือไม่มีลูกก็ได้ แต่ลูกไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน
3.ครัวเรือนพ่อแม่ลูก คือ ครัวเรือนที่วัยแรงงานอาศัยและอยู่กับคู่สมรสเท่านั่น โดยมีลูก หรือครัวเรือนที่มีวัยสูงอายุอาศัยอยู่กับคู่สมรสและลูกเท่านั้น
4.ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว คือ ครัวเรือนที่มีพ่อหรือแม่วัยแรงงานที่หย่าร้างและเลี้ยงบุตรโดยลำพัง
5.ครัวเรือนสามรุ่นอายุ คือ ครัวเรือนที่วัยแรงงานอาศัยอยู่กับลูก และปู่ ย่า ตา ยาย เท่านั้น หรือครัวเรือที่ผู้สูงอายุและคู่สมรสอาศัยอยู่กับ ปู่/ย่า/ตา/ยาย และลูก หรือครัวเรือนที่สูงอายุและหรือคู่สมรสอาศัยอยู่กับลูกและหลาน
6.ครัวเรือนข้ามรุ่น (60 ปีขึ้นไป) คือ ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ หรือ คู่สมรสอาศัยอยู่กับหลานเท่านั้น
รูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรไทยในแต่ละช่วงวัยปี 2566 จากการวิเคราะห์รูปแบบการอยู่อาศัยตามเส้นทางชีวิตของประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ของประชากรไทยในปี 2566 ดังรูป 1 พบว่า ครัวเรือนพ่อแม่ลูก มีจำนวนมากที่สุดในทุกช่วงวัย ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า ประชากรในช่วงอายุ 30-39 ปี จนถึง 60-69 ปี อาศัยอยู่ในครัวเรือนสามีภรรยา มากเป็นอันดับ 2 รองลงมาคือ ครัวเรือนคนเดียว ครัวเรือนสามรุ่น และครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว อย่างไรก็ตามพบว่า ประชากรในช่วงอายุ 40-49 ปี อาศัยอยู่ในครัวเรือนสามรุ่นน้อยที่สุด เช่นเดียวกับประชากรในช่วงอายุ 70-79 ปี และ 80 ปีขึ้นไป จำนวนในแต่ละรูปแบบการอยู่อาศัยไม่แตกต่างกันมากนัก
รูป 1 จำนวนครัวเรือนประเภทต่าง ๆ จำแนกตามช่วงอายุของประชากรในปี 2566
การเปรียบเทียบรูปแบบการอยู่อาศัยที่มีนัยยะการพึ่งพาอาศัยกันในครัวเรือนที่มีความใกล้เคียงจำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ประชากรในครัวเรือนคนเดียว ครัวเรือนสามีภรรยา และครัวเรือนสามรุ่น แสดงถึงรูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากการเกิดที่ลดลง และคนมีอายุยืนยาวขึ้น ขนาดครัวเรือนที่ลดลง แสดงให้เห็นถึงจำนวนครัวเรือนคนเดียวในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากคนหนุ่มสาวในวัยทำงานและผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังคนเดียวอันเนื่องมาจากค่านิยมไม่แต่งงาน หรือแม้แต่แต่งงานแล้วแต่แยกกันอยู่ (living apart together: LAT) เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน นอกจากนี้ค่านิยมการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ครัวเรือนสามีภรรยา (ที่อาจจะมีลูก แต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
จากรูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนคนเดียวเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านไปเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยอื่นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในช่วงกลุ่มอายุ 20-59 ปี โดยการอยู่อาศัยในครัวเรือนคนเดียวทั้งสองช่วงเวลา มีแบบแผนไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ประชากรในช่วงอายุ 15-19 ปี จะอาศัยอยู่ในครัวเรือนคนเดียวไม่มากนัก และเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่อายุ 20-29 ปี เรียกได้ว่า เป็นช่วงวัยของการเป็นผู้ใหญ่ตอนต้นที่เพิ่งเริ่มทำงาน สร้างเนื้อสร้างตัว จึงอาจจะมีการโยกย้ายเปลี่ยนที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นจำนวนประชากรที่อยู่คนเดียวจะเริ่มมีจำนวนน้อยลงเมื่ออายุเข้าใกล้เป็นผู้สูงอายุ แสดงให้เห็นว่า เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการอยู่อาศัยแบบครัวเรือนคนเดียวไปเป็นรูปแบบอื่นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายกลับไปอยู่กับคู่สมรสจากแต่เดิมที่เคยแยกกันอยู่แบบ LAT หรือย้ายไปอยู่กับลูก สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับแบบแผนของจำนวนของครัวเรือนคนเดียวที่ค่อนข้างคงที่เกือบตลอดทุกช่วงวัย อาจทำให้เกิดข้อสมมติได้ว่าคนที่อยู่ครัวเรือนคนเดียวตั้งแต่แรกๆ อาจมีแนวโน้มที่จะอยู่เช่นนั้นต่อไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมีความเปราะบางเนื่องจากจะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวน้อยกว่ารูปแบบอื่นๆ
สำหรับประชากรที่อาศัยในครัวเรือนสามีภรรยาในปี 2566 มีจำนวนมากกว่าเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มอายุ 40-49 ปี 50-59 ปี และ 60-69 ปี นอกจากนี้ยังมีแบบแผนการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละช่วงวัยคล้ายกันกับเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว คือ จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนสามีภรรยาจะเริ่มสูงตั้งแต่ช่วงอายุ 20-29 ปี และมีจำนวนพุ่งสูงขึ้นในช่วงอายุก่อนเข้าสู่วัยชรา หรือในวัยกลางคนตอนปลายซึ่งมีอายุ 50-59 ปี จากนั้นจำนวนจึงเริ่มลดลงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ คาดว่าประชากรส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยไปเป็นครัวเรือนในลักษณะอื่น อย่างไรก็ตามรูปแบบการอยู่อาศัยของประชากรในปี 2566 พบว่า จำนวนผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) ที่อยู่ในครัวเรือนคนเดียวจะมีจำนวนใกล้เคียงกับผู้สูงอายุวัยปลายในครัวเรือนสามีภรรยา
สำหรับครัวเรือน 3 รุ่นอายุ มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่ออายุ 60-69 ปี และมีจำนวนลดลงหลังจากนั้น เป็นครัวเรือนหลากหลายรุ่นวัย ที่ประกอบด้วยสมาชิก 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นสูงอายุ (ปู่ย่า ตายาย) รุ่นกลาง (พ่อแม่) และรุ่นเยาว์ (ลูก) อาศัยอยู่ร่วมกัน ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีความสัมพันธ์กันในแนวดิ่ง เป็นครัวเรือนที่มีทรัพยากรเชิงครอบครัว (familial resource) โดยเฉพาะประชากรในช่วงที่มีอายุน้อยกว่า 40-49 ปี เห็นได้ว่า ในปัจจุบันจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน 3 รุ่นมีจำนวนมากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และจำนวนของครัวเรือนสามรุ่นจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่ออายุ 60-69 ปี เหมือนกันทั้งในปัจจุบัน และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และมีจำนวนลดลงหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามการอยู่อาศัยเมื่อราว 10 ปี ที่แล้วมีแบบแผนแตกต่างจากในปัจจุบัน คือ เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ประชากรที่อาศัยในครัวเรือนสามรุ่นจะมีจำนวนลดลงในช่วงอายุ 15-19 ปี จนถึง 30-39 ปี ในขณะที่ครัวเรือนสามรุ่นในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงอายุ 15-19 ปีไปจนถึงอายุ 20-29 ปี จากนั้นจึงมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ครัวเรือนสามรุ่นในปัจจุบันมีจำนวนสูงในช่วงอายุ 20-29 ปี และในช่วงอายุ 60-69 ปี สะท้อนให้เห็นว่าเป็นครัวเรือนสามรุ่นที่มีลูกเล็กๆ ของพ่อแม่วัยแรงงานอยู่กับปู่ย่าตายายที่เป็นผู้สูงอายุวัยต้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนเกื้อกูลระหว่างช่วงวัย (intergenerational support) ที่ลงตัวของครอบครัว คือ ปู่ย่าตายายในช่วงสูงอายุวัยต้นช่วยดูแลหลานในขณะที่พ่อแม่วัยแรงงานออกไปทำงานทั้งสองคน ครัวเรือนสามรุ่นช่วงอายุ 60-69 ปี ในปัจจุบันสูงกว่าเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่คนหลายรุ่นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือกัน และในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความกดดันทางเศรษฐกิจของพ่อแม่วัยแรงงานที่จะต้องดูแลคนหลายรุ่นที่อยู่อาศัยในครัวเรือนเดียวกัน
รูป 2 จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนคนเดียว ครัวเรือนสามีภรรยา และครัวเรือนสามรุ่น เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว และปี 2566
กลุ่มที่ 2 เปรียบเทียบจำนวนประชากรในครัวเรือนพ่อแม่ลูก ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว และครัวเรือนข้ามรุ่น
รูปที่ 3 แสดงการเปรียบเทียบประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีพ่อแม่ลูกอยู่พร้อมกัน หรือเรียกได้ว่าเป็น ครัวเรือนพร้อมหน้า ที่มีทรัพยากรเชิงครอบครัวที่ค่อนข้างสมบูรณ์ (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย, 2558) ในขณะที่ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยวในประชากรวัยทำงาน (15-59 ปี) และครัวเรือนข้ามรุ่น ในประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เรียกได้ว่าเป็น ครัวเรือนไม่พร้อมหน้า ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว เป็นครัวเรือนที่มีเฉพาะพ่อหรือแม่ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรตามลำพัง ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีสมาชิกคนอื่นๆ อยู่ร่วมในครัวเรือนด้วย ครอบครัวไม่พร้อมหน้ามีความเปราะบางอยู่ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ครัวเรือนข้ามรุ่นในวัยสูงอายุ หรือ ครัวเรือนแหว่งกลาง เป็นครัวเรือนที่มีเด็กอยู่อาศัยกับปู่ย่าตายาย โดยไม่มีพ่อแม่อาศัยอยู่ด้วย แม้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเลี้ยงดูหลาน แต่ก็มีความเปราะบางในหลายมิติเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก
เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการอยู่อาศัยระหว่างประชากรในครัวเรือนพ่อแม่ลูก ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว และครัวเรือนข้ามรุ่น พบว่า ครัวเรือนพ่อแม่ลูก มีความโดดเด่นในเชิงจำนวนที่มีมากกว่าอีกสองรูปแบบ และครัวเรือนพ่อแม่ลูกนี้มีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว กับในปัจจุบันคล้ายคลึงกัน กล่าวคือจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 15-19 ปี แล้วไปสูงสุดที่อายุ 40-49 ปี หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง แต่มีจุดที่แตกต่างกันคือ จำนวนครัวเรือนพ่อแม่ลูกของกลุ่มประชากรอายุ 50-59 ปีในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (แม้จะลดลงเหมือนกัน) ทั้งนี้อาจเนื่องจากครัวเรือนพ่อเม่ลูกในปัจจุบันครัวเรือนพ่อแม่ลูกในปัจจุบัน แสดงปรากฏการณ์รังที่ว่างเปล่า (empty nest) หรือการที่ลูกออกจากครอบครัวเมื่อโตขึ้น เกิดขึ้นช้ากว่าเมื่อราว 10 ที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะลูกไม่ย้ายออกไปจากครัวเรือนเดิม มากเท่ากับเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว หรือลูกย้ายกลับมาอยู่กับพ่อแม่เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เช่น ที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพงขึ้น การปรับเปลี่ยนการทำงานจากที่ต้องเข้าออฟฟิศมาเป็นทำงานออนไลน์ การประกอบอาชีพขายของออนไลน์ คล้ายกับปรากฏการณ์บูมเมอแรง (boomerang) ในสังคมสหรัฐอเมริกา (Olofsson, Sandow, Findlay, & Malmberg, 2020)
รูป 3 จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนพ่อแม่ลูก ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว และครัวเรือนข้ามรุ่น เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว และปี 2566
สำหรับครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเข้าสู่อายุ 20-29 ปี หลังจากมีแนวโน้มลดลง ประชากรวัยทำงานในช่วงอายุ 15-59 ปี พบว่ามีจำนวนในแต่ละช่วงวัยไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ในช่วงราว 10 ปีผ่านมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 20-29 ปีเป็นต้นไป มีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงในแต่ละกลุ่มอายุไม่แตกต่างจากเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว แต่จะมีจำนวนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในช่วงอายุ 40-49 ปี (วัยกลางคนตอนกลาง) ในขณะเดียวกัน ประชากรสูงอายุที่อาศัยในครัวเรือนข้ามรุ่นของประชากรอายุ 60-69 ปี มีจำนวน มากที่สุด และลดลงเมื่อมีอายุสูงขึ้น พบว่าปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว แต่มีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงของจำนวนไม่แตกต่างจากราว 10 ปีที่แล้วมากนัก โดยที่จำนวนของครัวเรือนข้ามรุ่นของประชากรอายุ 60-69 ปี มีจำนวนมากที่สุด และลดลงเมื่อมีอายุสูงขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องจากข้อจำกัดด้านสุขภาพของผู้สูงอายุวัยปลายอายุ 80 ปีขึ้นไป ในการดูแลหลาน (หลานอายุต่ำกว่า 15 ปี)
No comments:
Post a Comment